กลยุทธ์การพัฒนาตลาดในภาวะการแข่งขันสูง (Marketing Development) : ดร.พนม ปีย์เจริญ


ในภาวะแห่งการแข่งขันสูงอย่างในปัจจุบันนี้ การอยู่เฉยๆเท่ากับการถอยหลัง  เพราะคู่แข่งของเราไม่อยู่เฉยไปกับเราด้วย  ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทุกคนล้วนต้องหนีตายกันทั้งนั้น  การที่จะรอภาครัฐมาช่วยทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ทันการ  เราเองต้องหาทางดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ก่อนด้วย

 

ดังนั้นในธุรกิจระดับ SMEs ของเราจึงต้องมองหาช่องทางใหม่ๆในการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจของเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การนั่งรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาอย่างแต่ก่อนคงจะไม่สามารถเพิ่มยอดขายและขยายตลาดออกไปได้ ฉะนั้นเราจึงต้องหันมาพัฒนาตลาด (Marketing Development) ของเราเองด้วยการมุ่งไปที่ กลยุทธ์ใหม่ๆดังนี้

 

1.      ขายสินค้าเดิมในตลาดใหม่

ด้วยการขยายตลาดสินค้าเดิมของเราไปยังกลุ่มประชากรใหม่ๆ (New demographic)หรือกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายใหม่ได้  ด้วยการพุ่งเป้าไปยัง

  • ลูกค้าที่มีอายุสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่ากลุ่มลูกค้าเดิมหรือกลุ่มเป้าหมายที่เคยทำตลาดอยู่ ซึ่งอาจจะปรับช่องทางการขาย  เทคนิคการขาย  วิธีการขายหรือแม้กระทั่งการปรับหีบห่อ (Packaging)หน้าตาของสินค้า สีสัน รสชาติ ฯลฯ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ต้องการจะให้เข้าถึง
  •  
  • ลูกค้าศาสนาอื่น เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ อาจจะเป็นตลาดใหม่ที่เจาะตลาดยากสักหน่อย  แต่ถ้าสามารถเจาะเข้าไปได้แล้ว  นั่นคือทะเลสีคราม (Blue Ocean)เลยละครับ ดีกว่าจะมาฟาดฟันกันอยู่เฉพาะทะเลสีเลือด (Red Ocean)ด้วยความที่ว่าไม่ง่ายนี่ล่ะครับ ส่วนใหญ่จึงไม่คิดที่จะเจาะตลาดนี้กัน เช่น ถ้าเป็นอาหารเราอยากจะขยายเข้าไปในกลุ่มชาวมุสลิมก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจนผ่านและได้รับเครื่องหมาย “ฮาลาล” เสียก่อน ทุกรายต้องผ่านขั้นตอนนี้เหมือนกัน ก็ขึ้นอยู่ที่ความพยายามว่าใครมีมากกว่ากัน
  •  
  • ขยายตลาดไปยังคนเชื้อชาติอื่น  แทนที่จะมาจ้องทำตลาดกับคนไทยเพียงอย่างเดียว  ลองหันไปมองชนชาติอื่นๆดูบ้าง เพราะไม่มีอะไรยืบยันได้ว่าทำตลาดไหนจะโดนมากกว่ากัน  หลายธุรกิจเพียงปรับปรุงสินค้านิดหน่อยให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของตลาดกลุ่มเป้าหมาย และนั่นอาจจะเป็นตลาดใหม่ที่คาดไม่ถึงว่าจะประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ดูตัวอย่าง  สินค้าของ Narayaที่ขายดีมากๆในขณะนี้ ใครจะคิดว่าลูกค้าทั้งชาวญี่ปุ่น จีน เกาหลี แม้แต่ฝรั่งมังค่าก็ยังแห่มาซื้อกันเป็นว่าเล่น ด้วยเพราะการพัฒนาสินค้าให้มีลวดลายผ้าที่สวยงาม  แบบที่ไม่เหมือนใคร พร้อมทั้งเพิ่มความคงทนแข็งแรง  ด้วยการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเข้าไป แม้จะราคาสูงกว่ากระเป๋าผ้าทั่วๆไปอีกหน่อย  แต่ด้วยคุณภาพที่ดีกว่าจึงทำให้ราคาไม่ใช่ปัญหาของลูกค้ากลุ่มใหม่เหล่านี้ 
  •  
  • ขยายตลาดไปยังภูมิศาสตร์ใหม่ๆ (New Geographic) เป็นการขยายไปยังภูมิภาคอื่น โดยพิจารณาความพร้อมเป็นจังหวัดๆไป ว่ามีจังหวัดใดที่มีศักยภาพพอที่จะขยายตลาดสินค้าเราไปเปิดได้ก่อน ในขณะเดียวกันก็ต้องหันมาดูความพร้อมของเราด้วยว่าจะไปได้มากน้อยแค่ไหน  กี่จังหวัดในภูมิภาคนั้น โดยพิจารณาจากโอกาสและความเป็นไปได้ก่อนสิ่งอื่น
  •  
  • ขยายตลาดไปยังประเทศอื่น เป็นการเปิดตลาดให้กว้างออกไปสู่สากล  และห้ามคิดว่า “เป็นไปไม่ได้”เพราะคำว่า No”เพียงคำเดียวจะทำให้ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ในทันที  ทางที่ดีให้เริ่มต้นที่ “How” ดีกว่า ลองช่วยกันคิดว่าเราจะทำให้เป็นจริงได้ด้วยหนทางไหนบ้างและต้องทำอย่างไร  ถ้าคิดไม่ออกก็ลองปรึกษากับคนที่มีความรู้ความสามารถ  ที่จะทำให้ฝันของเราเป็นจริงได้ ซึ่งดีกว่าจะหยุดทุกอย่างด้วยคำว่า “No”เราอาจจะต้องยอมลงทุนปรับเปลี่ยน ขนาด สีสัน ลักษณะ รสชาติ หรืออะไรก็ตามที่ต้องปรับเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่เราต้องการจะไปเจาะโดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ  การมองออกไปให้กว้างให้ไกลเป็นการหลีกหนีจากช่องทางการตลาดแบบเดิมๆ เพราะการที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้จะต้องหนีความจำเจให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยการเลือกช่องทางที่เหมาะสมนั่นเอง

 

2.      ขายสินค้าใหม่ในตลาดเดิม 

เป็นกระบวนการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ (Product Development) เพื่อนำมาขายในตลาดเดิมที่เราทำอยู่  อันป็นการพัฒนาปรับปรุงสินค้าเดิมที่ขายอยู่ เปลี่ยนแปลงหีบห่อ หน้าตา คุณภาพ ขนาด กลิ่น สี รสชาติ  ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ตัวอย่างนี้เห็นได้จาก  “แป้งศรีจันทร์” ที่มีการพัฒนาหีบห่อ หน้าตา กลิ่น คุณภาพ และสรรพคุณฯ จากความดั้งเดิมให้ดูดีมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น  จนได้รับความนิยม ช่วยเพิ่มจำนวนผู้บริโภคในกลุ่มใหม่ และยอดขายได้อย่างน่าชื่นใจ  และนี่เป็นความกล้าหาญและความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่กล้าแต่งเติมเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ลงไปในสินค้าเดิม ทำต้นทุนที่มีอยู่แล้วให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการตลาดยิ่งขึ้นอีกในสินค้าเดิม  พร้อมทั้งใช้มืออาชีพเข้ามาช่วยส่งเสริมทางด้านการตลาดใหม่ๆให้กว้างไกลออกไปอีกแทนที่จะอยู่ในวังวนเดิมๆ

 

การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ เป็นความจำเป็นหากต้องการขายสินค้าในตลาดเดิม  ต้องพัฒนาสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้นจึงต้องวางกลยุทธ์ให้ใหม่ไปด้วยกัน

–          หีบห่อใหม่

–          สไตล์ใหม่

–          สูตรใหม่

–          รสชาติหรือกลิ่นใหม่

–          สีสันใหม่

–          บริการใหม่

–          บรรยากาศใหม่

–          ภาพลักษณ์ใหม่

–          ความรู้สึกสัมผัสใหม่  เป็นต้น

 

3.      การขายสินค้าใหม่ในตลาดใหม่

เป็นการเปิดตลาดการขายที่หลากหลาย (Diversification)มากยิ่งขึ้นด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาดที่อาจจะต้องสร้างร้านค้าที่ต่างไปจากเดิมด้วย concept ใหม่ๆและช่องทางการขายใหม่ๆให้ทันยุคทันสมัยกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและแข่งขัน

อาจต้องเอาผลิตภัณฑ์สินค้าและข้อมูลข่าวสารทางการตลาดของเราเข้าไปไว้ในจอเล็กๆของโทรศัพท์มือถือเพื่อให้สะดวกรวดเร็วกับการเข้าถึงลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างและสร้างสรรค์

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ปรับภาพลักษณ์ใหม่ กระบวนการนำเสนอใหม่ กระบวนการเจาะตลาดใหม่ กระบวนการเข้าถึงลูกค้าใหม่ กลวิธีการขายใหม่ๆ ฯลฯ

เพื่อให้สินค้าใหม่เข้าถึงตลาดคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่เราอาจไม่เคยคิดทำมาก่อน และเมื่อเราเข้าใจ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆที่มีอายุน้อยแต่กำลังซื้อสูงได้ เชื่อเถอะครับว่าในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก เราก็จะมีกล่มลูกค้าอายุน้อยลงๆอย่างไม่น่าเชื่อเข้าไปทุกที

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อจะบอกกับท่านว่า สงครามทางการตลาดไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้น “คิดได้นับว่าเก่ง” แต่ “กล้าทำให้ได้” นั้นเก่งกว่าครับ