ออฟฟิศจำเป็นไหมสำหรับ Startup : ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์


หลายคนคงฝันถึงการทำงานเมื่อไรที่ไหนก็ได้ บางคนนึกถึงภาพชายหาดสวยๆ ทะเลใสๆ นั่งชิลๆ หน้าคอม ซึ่งมันเป็นไปได้จริงๆ นะครับในยุคนี้สมัยนี้ ปัจจุบันเรายังมีคำศัพท์ที่เรียกว่า Digital nomad คือการทำงานแบบไม่อยู่กับที่ หรือเร่ร่อนท่องไปเรื่อย แล้วใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน มันกลายเป็นอีกไลฟ์สไตล์หนึ่งที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันถึง
 
แต่ผมขอบอกก่อนเลยว่าการจะทำแบบนี้ได้ดีนั้น เราต้องสร้างท่อน้ำเลี้ยงที่มั่นคงก่อนเริ่มออกเดินทาง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับงานที่ทำหลายๆ คนเป็นทีมใหญ่ๆ จะค่อนเหมาะกว่ากับการทำงานคนเดียวหรือทีมเล็กๆ และทุกอย่างต้องเกิดขึ้นแล้วจบในอินเทอร์เน็ตต้องเป็นดิจิตอล เช่น เป็นอีคอมเมิร์ซที่ซื้อขายดิจิตอลคอนเทนต์ เป็น Software as a Service (SaaS) ที่เก็บเงินลูกค้าผ่านอินเทอร์เน็ต มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราเกิดต้องมีหน้าร้านหรือส่งของที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะอันนั้นต้องการที่ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่งที่แน่นอน 
 
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมอยากยกตัวอย่างคนหนึ่งครับ Jon Yongfook เค้าเคยมาเมืองไทยปี 2013 จากประวัติของเค้าคือ เป็นลูกครึ่งจีนอังกฤษ โตและเรียนหนังสือในอังกฤษ แล้วก็ย้ายไปทำงานที่ญี่ปุ่นอยู่ 10 ปี จากนั้นก็ไปอยู่สิงคโปร์ 2 ปี และเริ่มเร่ร่อนเป็น Digital nomad ตั้งแต่ปี 2013
และนี่คือสถานที่บางแห่งที่เค้าเคยไปนั่งทำงานอยู่ เช่น เกาะสมุย กัวลาลัมเปอร์ ภูเก็ต เกาะเต่า มะละกา กรุงเทพ หัวหิน เชียงใหม่ โฮจิมินท์ บาหลี เป็นต้น เค้าทำงานคนเดียวและมีรายได้จากเว็บไซต์ beatrixapp.com นอกจากนี้ยังได้เขียนหนังสือขายบนเน็ตชื่อ Growth Hacking Handbook และ 100 tried & tested startup marketing tactics
 
อีกคนเป็นฝรั่งชื่อ Jacob Laukaitis ผู้ก่อตั้ง ChameleonJohn บริการออนไลน์คูปองเพื่อให้ส่วนลดจากเว็บไซต์ขายปลีกต่างๆ เค้ามักจะใช้ co-working space ในการทำงานระหว่างท่องไปทั่วยุโรปและเอเชีย เค้าได้เดินทางไปกว่า 30 ประเทศแล้ว และใช้เวลาอยู่แต่ละทีไม่นาน แล้วย้ายไปเรื่อยๆ เพื่อประสบกับวัฒนธรรมใหม่ๆ และที่แน่นอนเค้ากล่าวว่า ตัวเองให้ความสำคัญกับงานเป็นที่หนึ่ง งานต้องเสร็จก่อนไปดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ ปีนเขา หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่นี่ต่างจาก Jon Yongfook ที่เค้าทำงานเป็นทีม (ไม่เกิน 10 คน) และแต่ละคนรับผิดชอบงานของตัวเองโดยอาศัยอินเทอร์เน็ตในการทำงานเชื่อมกัน (collaboration) ก็มีบางคนที่ทำงานอยู่กับที่และบางคนที่เร่ร่อนไปเรื่อยๆ
 
ถัดมาบริษัท Buffer ผู้ให้บริการ Social media automation ในซานฟรานซิสโก มีพนักงาน 50 กว่าคน กระจายอยู่ 40 กว่าเมือง ใน 10 timezone สามารถดูได้ที่ http://timezone.io/team/buffer Joel Gascoigne ผู้ก่อตั้งได้ประกาศว่าพวกเขาได้ทำงานแบบ remote 100% แล้ว และได้ปิดออฟฟิศซานฟรานซิสโกลง ข้อดีคือ ได้ลดค่าใช้จ่ายจากการเช่าและดูแลรักษาออฟฟิศ พนักงานสะดวกสบายเป็นอิสระตราบเท่าที่ส่งงานภายในระยะเวลาที่กำหนด จะทำงานวันละกี่ชั่วโมงที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องไปรถติดบนท้องถนนในเวลาเร่งด่วน ไม่เสียเวลา ไม่เสียค่าน้ำมัน สิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขามากๆ คือ ความรับผิดชอบและการไว้ใจกัน เพราะงานแต่ละคนส่งผลกระทบถึงอีกคนแน่นอน
 
เขยิบเข้ามาอีกนิดในประเทศไทย ผมเคยอ่านบล็อกของคุณเม่น จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ กับการทำงานแบบไร้ออฟฟิศ (Virtual office) ของ TiGERiDEA เพราะเค้าพักอาศัยอยู่ที่ปาย และเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ อยู่กรุงเทพ ปริมณฑล ประมาณ 2 ปี คุณเม่นกล่าวไว้ว่ามีสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทำงานแบบนี้ได้ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ วัฒนธรรมองค์กร (หรือทีมสปิริต) และ เครื่องมือ เพราะจะทำให้ทุกคนรายงานผลได้ตรงกัน สื่อสารกันด้วยความจริงไม่ใช่แค่ความเชื่อ แล้วหลังจากนั้น ค่อยหาระบบที่เหมาะสมกับงานที่ต้องการ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทั้งฟรี และค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก
 
ส่วนพวกผมที่ Budnow ก็ได้พยายามใช้ Virtual office และทำงานแบบ remote กันอยู่ เราเช่าออฟฟิศไว้เป็นฐานทัพให้คนภายนอกติดต่อ และสำหรับพบปะและประชุมกันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนวันที่เหลือเราให้สิทธิ์พนักงานในการทำงานที่ไหนก็ได้ จะเข้าหรือไม่เข้าออฟฟิศก็ได้ แค่มีข้อแม้ว่างานต้องเสร็จ ซึ่งการจะทำงานแบบไร้ออฟฟิศได้นั่นทุกคนต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีความเป็นเจ้าของงาน ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นแค่ลูกจ้างที่ทำงานตามคำสั่ง งานที่ได้ก็ไม่มีทางออกมาได้ดี แต่อย่างไรก็ตามการสื่อสารก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ บางทีถ้าอยู่ร่วมกัน แค่เดินไปตาม โชว์หน้าจอให้ดู คุยกันแป๊บเดียวก็เข้าใจแล้ว แต่เมื่ออยู่ห่างกันถึงเราจะมีเครื่องมือมากมาย ไม่ว่า Google Hangout, Facebok message ที่ทั้งคุยทั้ง vdo chat ได้, Line, Skype ทุกอย่างช่วยให้พูดคุยกันได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่อารมณ์ความรู้สึกมันก็ต่างกันไป ไม่ได้ feeling ซะอย่างนั้น
 
สุดท้ายการทำธุรกิจในประเทศไทย ยังไงก็ยังคงต้องมีออฟฟิศให้คนภายนอกติดต่อเข้ามาอยู่ดี มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นระดับนึงว่าบริษัทมีที่ตั้งแน่นอน ส่วนทีมงานไหนจะทำงานแบบ virtual office ได้หรือไม่นั่น อยู่ที่ทุกคนต้องมั่นใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน พูดความจริงไม่เน้นสร้างภาพ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่มัวจับผิดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และต้องมีวินัยในการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ อย่าไปเน้นที่เครื่องมือก่อนเพราะเครื่องมือมีอยู่แล้วครับ คนต่างหากที่พร้อมหรือเปล่าที่จะปรับตัวก็เท่านั้นเอง