เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ข้าราชการของกระทรวงฟังที่ จ.น่าน เรื่อง “กระบวนการสร้างเครือข่ายชุมชน” เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและจัดการต้นน้ำลำธาร โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เมื่อไปถึงมีข้าราชการมาให้การต้อนรับและพูดคุยกันอย่างสนุกสนานอะไรที่ผมไม่เคยทราบมาก่อนก็ได้ทราบจากการพูดคุยกันของท่านผู้มีประสบการณ์เหล่านั้นโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับป่าไม้ เรามีกรมป่าไม้ เรามีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่เราก็ยังคงมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่อย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นปัญหา “ภูเขาหัวโล้น” คุยกันไปคุยกันมามีอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งผมประทับใจมาก ข้าราชการท่านหนึ่งบอกผมว่า อาจารย์ทราบไหมครับว่าที่อำเภอบ่อเกลือ จ.น่าน เนี่ย ชาวบ้านเขาก็อยู่กันของเขาดี ๆ วันหนึ่งมีคนไปบอกเขาว่าอำเภอนี้เป็นอำเภอที่ถูกจัดว่าเป็นอำเภอ “ยากจน” ชาวบ้านจึงตอบว่า เอ๊ะ! พวกเราก็อยู่ของเรามาดี ๆ มีกินมีใช้อย่างพอเพียงอยู่แล้ว ไม่เคยคิดถึงเรื่องความยากจนอะไรเลย แล้วเขาก็หันมากระซิบกับข้าราชการท่านนั้นว่า “นี่ถ้าไม่มาบอก ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะเนี่ยว่าผมยากจน” พอได้ยินเรื่องเล่านี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “ความสำเร็จ” ขึ้นมาทันที
อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” ใครสำเร็จหรือไม่สำเร็จปัญหามันอยู่ที่ว่าเขาเอาอะไรมาวัดกัน หรือใครเป็นผู้วัดว่าสำเร็จหรือไม่? วัดกันจากตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือวัดกันจากรายได้ ทรัพย์สินเงินทอง หรือวัดกันจากอะไร คำตอบยังคงไม่นิ่งเพราะไม่มีใครตัดสินได้ว่าอะไรคือความถูกต้องที่แท้จริง แต่ที่แน่ ๆ คนที่จะประสบความสำเร็จได้คงต้องเป็นคนที่มี “ความสุข” และความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนของมนุษย์ก็คือ “ความสุขที่ชีวิตประจำวันมีความสุข” นั่นเอง
แต่ถ้ามองในแง่ความสำเร็จของผู้นำก็ต้องดูว่าผู้นำนั้นมีความสุขที่แท้จริงหรือไม่ด้วย และผู้นำที่มีความสำเร็จนั้นคงต้องเป็นผู้นำที่ได้ “หัวใจคน” ถ้ามี “สมอง” มี “ปัญญา” แต่ไร้ซึ่งหัวใจหรือความผูกพันกับลูกน้อง หรือทีมงานก็คงจะไม่ใช่ความสุขหรือความสำเร็จที่แท้จริงแน่ ๆ นะครับ ในสังคมตะวันออกเฉกเช่นบ้านเมืองของเรานั้นได้มีนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย ฮาวาร์ด ได้ทำการวิจัยไว้ว่าผู้นำนั้นมีถึง 5 ระดับด้วยกัน ดังนี้คือ
ระดับที่หนึ่ง คือผู้นำที่เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ รู้เท่าทันคน มียุทธวิธีและกลยุทธที่แหลมคม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำที่ลูกทีมมั่นใจได้ว่า จะพาทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่เก่งและฉลาด”
ระดับที่สอง คือ ผู้นำที่เก่งและฉลาด บวกด้วยประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งมีบทเรียนที่เคยผ่านความเจ็บปวด ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วมากมาย และแน่นอนต้องผ่านการทำงานอย่างโชกโชนเพียงพอ เขาจึงสามารถที่จะเข้าใจถึงคำว่า “กาละเทศะ” เรื่องอะไรควรหนัก เรื่องอะไรควรเบา สิ่งใดควรรีบเร่ง สิ่งใดควรรั้งรอไว้ก่อน ประเด็นใดสำคัญมาก ประเด็นใดสำคัญน้อยกว่า ผู้นำระดับนี้ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น จะไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม หุนหันพลันแล่น แต่จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น นุ่มนวล ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เท่ากับนำพาให้ทีมงานลดความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอกับภาวะวิกฤตโดยไม่จำเป็น ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีปัญหา”
ระดับที่สาม คือ ผู้นำที่มีปัญญาแล้วยังสามารถเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้ มีความเมตตากรุณาที่ใครเดือดร้อนก็จะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ ลูกทีมที่อยู่ร่วมกันก็จะมีความรู้สึกผูกพันอบอุ่น มั่นคง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีน้ำใจ”
ระดับที่สี่ คือผู้นำที่เปิดทางสนับสนุนให้ลูกทีมได้ประสบความสำเร็จ บุคคลเหล่านั้นจะเคารพนับถือผู้นำชนิดนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาได้มาจากผู้นำคนนี้ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่สร้างคน”
ระดับที่ห้า (สูงสุด) คือ ผู้นำที่จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากเป็นผู้นำ แต่เป็นคนที่มีความสามารถนำพาองค์กรทั้งทีมฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่มีกิเลสตัณหาคิดจะเป็นใหญ่ จึงทำทุกอย่างโดยไม่มีอะไรแอบแฝง โปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกด้าน ดังเช่นปูชนียบุคคล 2 ท่าน คือจอร์ช วอชิงตัน และเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งทั้งสองท่านล้วนแต่ถูกเคี่ยวเข็ญให้ขึ้นมาเป็นใหญ่เพื่อกอบกู้วิกฤต และพยายามขอถอนตัวออกไปอย่างเงียบ ๆ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่”
ถ้าเราจะสังเกตและหาข้อสรุปของผู้นำทั้ง 5 ประเภทนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้นำระดับที่หนึ่งและสองใช้ “สมอง” เป็นหลัก แต่ผู้นำในระดับที่สูงขึ้นมาในระดับสาม สี่ และห้า ต้องใช้ “หัวใจ” เป็นกลไกในการขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการ สังคมตะวันออกจึงเน้นเรื่อง “หัวใจ” มากกว่า “สมอง” โดยยึดหลักปรัชญาที่ว่า “คนจะใหญ่…หัวใจต้องใหญ่พอ” ดังนั้นบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นมากที่สุดหรือเก่งที่สุด แต่มีภาวะจิตใจอยู่ในระดับที่สาม สี่ และห้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงมักที่จะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรใหญ่ ๆ ที่บริหารตามแนวทางของสังคมตะวันออก เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ยึดติดผลประโยชน์เป็นใหญ่ แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องความสุขของทุกคนในทีมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จที่แท้จริงจึงอยู่ตรงนี้แหละครับ คราวนี้ลองหันกลับมาถามตัวเองซิครับว่า… ท่านเป็นผู้นำแบบไหนเอ่ย?