ไก่งามเพราะคน คนงามเพราะแต่ง สำนวนโบราณที่ยังใช้ได้ในทุกยุค ทุกสมัย เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจ ใส่ใจเรื่องความสวยงาม และการดูแลสุขภาพ ความงามเสมอมา โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ปัจจุบัน มีสัดส่วนของกลุ่มคนวัยทำงานที่นิยมดูแลตัวเอง เพิ่มมากขึ้นจากอดีตมากขึ้น จนทำให้สัดส่วนตลาดเครื่องสำอางไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ในปี 2558 ธุรกิจเครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 9 หมื่นล้านบาท
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics ประเมินธุรกิจเครื่องสำอางมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีศักยภาพเป็นเจ้าตลาดอาเซียนในอนาคต
ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางในอาเซียนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานเพิ่มขึ้นถึง 300 ล้านคน และจากตัวเลขโครงสร้างตลาดของ Yano research institute สถาบันวิจัยและสำรวจภาวะธุรกิจญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นว่าตลาดของไทยเองมีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดอาเซียน คือ กว่าร้อยละ 30 รองลงมาคือ อินโดนี่เซีย ร้อยละ 28 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 20 จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางไทยไปอาเซียนจึงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยได้ถึงร้อยละ 9.2 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ไทยส่งออกเครื่องสำอางไปยังตลาดอาเซียนร้อยละ 44 ของการส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งหมด และด้วยมูลค่าตลาดอาเซียนในปี 2558 ที่ทางศูนย์วิเคราะห์เศราฐกิจ TMB คาดว่าจะมีถึง 6.1 แสนล้านบาท จึงทำให้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในแง่ขนาดมูลค่าตลาด และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากโอกาสตลาดอาเซียนที่เปิดกว้างแล้ว ธุรกิจเครื่องสำอางไทยยังมีปัจจัยหนุนจากความสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพ ทำให้ไทยชิงความได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากวัตถุดิบสมุนไพรจากธรรมชาติสามารถตอบโจทย์เทรน์พฤติกรรมใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคได้ดี
รวมถึงมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากมาย อาทิ การให้สภาบันวิจัยนาโนเทค จัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเครื่องสำอางครบวงจรเพื่อให้เป็นแบบอย่างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับสินค้าของตนเอง การส่งเสริม การจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำอย่างบูรณาการ และการที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แก้ไข พรบ. เครื่องสำอางบางส่วนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันในตลาดส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงช่องทางทางการตลาดที่หลากหลายและผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ในยุคที่รูปแบบการค้าสมัยใหม่กำลังมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นในตลาดอาเซียน
ศูนย์วิเคราะห์ เศรษฐกิจ TMB จึงคาดว่า ในปี 2559 มูลค่าทางการส่งอกเครื่องสำอางไทยจะสามารถขยายตัวได้กว่าร้อยละ 15 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน อย่างไรก็ตามธุรกิจเครื่องสำอางไทยจะประความสำเร็จในตลาดอาเซียนหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยต้องอาศัยภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุน และลดอุปสรรค์อันเป็นปัญหาของการดำเนินการของผู้ประกอบการ ในขณะที่ผู้ประกอบการควรมีการพัฒนาสินค้าตนเองให้ได้มาตรฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องสำอาง อาทิ ASEAN GMP มาตรฐานฮาลาล EU Cosmetic Regulation และ Gulf standard เป็นต้น