ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยรับเลือดต้องเข้าใจและยอมรับ


         การให้การรักษาด้วยเลือด และส่วนประกอบของเลือด เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาที่สําคัญมาก ผู้ป่วยที่มีภาวะต่าง ๆ เช่น เสียเลือดจากอุบัติเหตุ , การผ่าตัด, มีภาวะซีด, โลหิตจางเรื้อรัง, ธาลัสซีเมีย หรือป่วยเป็นมะเร็งที่ได้ยาเคมีบําบัด  ที่กล่าวนี้จําเป็นต้องได้รับเลือด และส่วนประกอบของเลือด เช่น น้ําเหลือง, พลาสม่า,เกร็ดเลือด เพื่อการรักษาทั้งสิ้น เลือดที่ให้ผู้ป่วยยังต้องมาจากมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อที่ไหลเวียนในร่างกายของผู้บริจาค การคัดเลือกผู้บริจาคเลือดให้ได้ผู้บริจาคที่ปลอดภัย และเต็มใจจึงเป็นงานที่สําคัญมาก ในขบวนการจะมีการซักประวัติอย่างละเอียด และตรวจความสมบูรณ์ของร่างกาย เมื่อได้รับเลือดที่บริจาคมาแล้ว จะมีการตรวจกรองการติดเชื้อ เชื้อต่าง ๆ ที่ตรวจได้แก่ เชื้อไวรัสเอดส์ , เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี, เชื้อซิฟิลิส  
         ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตรวจสูงขึ้นมาก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยที่รับเลือด แต่ถึงกระนั้นก็ตามความเสี่ยงจากการได้รับเลือดยังคงมีอยู่บ้าง ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดเพื่อการรักษา จะต้องเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
 1.)การติดเชื้อโรคอื่นที่ยังไม่มีการตรวจ เช่น เชื้อมาเลเรีย
 2.)การติดเชื้อโรค ที่แม้จะมีการตรวจ แต่ผู้บริจาคอาจจะอยู่ในระยะแรกจึงตรวจไม่พบ
 3.) ปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์ ที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับเลือด เช่น การมีไข้ ภาวะแพ้ต่าง ๆ
เลือดเป็นส่วนประกอบที่สําคัญของร่างกายเปรียบเสมือนสายธารหล่อเลี้ยงชีวิต ตามปกติแล้วมนุษย์จะมีเลือดไหลเวียนอยู่ในร่างกายประมาณ 4,000 – 5,000 ซีซี ดังนั้นการบริจาคเลือดเพียง 350 – 450 ซีซี หรือประมาณ 9% จึงไม่ก่อให้เกิด อันตรายใด ๆ แต่จะมีผลดี คือ ช่วยให้ร่างกายมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดใหม่ออกมาชดเชย การบริจาคเลือดสามารถบริจาคได้ทุก3 เดือน ในผู้ชายและทุก 6 เดือนในผู้หญิง
ถ้าท่านมีญาติหรือเพื่อนที่ยินดีจะบริจาคเลือด เพื่อตัวท่านหรือเพื่อผู้ป่วย ธนาคารเลือดมีความยินดีอย่างยิ่ง
 
ขอบคุณข้อมูลดี ๆจากภาควิชาเวชศาสตร์ การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณรูปจาก http://thalassemia.khonkaenhospital.org/