คุณเคยนึกอะไรไม่ออกหรือเปล่าครับ…
สำหรับผม มันเกิดขึ้นเป็นประจำ…
เรื่องของการนึกอะไรไม่ออก ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกครับ มันอยู่คู่กับเรามาตั้งแต่สมัยเรายังเป็นเด็กจนเราโตเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งเราก็ยังนึกอะไรไม่ออกอยู่ดี
ตอนเป็นเด็กนักเรียนหรือนักศึกษา … เรามักจะนึกอะไรไม่ออกตอนเราอ่านโจทย์ข้อสอบที่อาจารย์ให้
ตอนเป็นคนทำงาน … เรามักจะนึกอะไรไม่ออกตอนหัวหน้าหรือเจ้านายบอกว่า ต้องเพิ่มยอดขายให้มากกว่าปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจปีนี้มันแย่ลง และคู่แข่งก็แข่งกันลดราคาลงเรื่อยๆ มันนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำอะไรดีให้ยอดขายมันขึ้น
หรือถ้าใครเป็นคนทำธุรกิจ … เรามักจะนึกอะไรไม่ออกตอนเราต้องออกสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เรียกว่า หมดมุกกันเลยทีเดียว ทำอะไรก็รู้สึกว่าลูกค้าจับทางได้หมด ไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจสำหรับลูกค้าอีกต่อไป
ทั้งหมดนี้มันคือ “ทางตัน” ที่ทุกคนล้วนต้องเคยพบเจอในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิต มันมองไม่เห็นหนทางหรือแสงสว่างเลยซักนิด แต่คุณจะมีวิธีการอย่างไรในการรับมือกับ “ทางตัน” ที่ผมพูดถึง และทำให้มันเกิดกำไรเป็นกอบเป็นกำอย่างคาดไม่ถึง
เวลาที่คุณคิดอะไรไม่ออก คุณก็แค่เดินออกจากที่ตรงนั้น เดินไปเรื่อยๆ ดูดอกไม้ริมถนนว่ามีสีอะไรบ้าง มีลักษณะดอกเป็นอย่างไร ดูวิถีชีวิตของคนรอบข้าง ฟังเพลงเบาๆ ว่าเนื้อหามันพูดถึงอะไร กลับไปสู่โหมดชีวิตที่เรียบง่าย แล้วคุณจะรู้ว่าไอเดียและชีวิตใหม่มีอยู่รอบตัว เพียงแต่บ่อยครั้งที่คุณเร่งรีบจนลืมสิ่งรอบตัวที่สร้างความสุขเล็กๆ ไปชั่วขณะหนึ่ง นั่นคือวิธีออกจากทางตันแบบง่ายๆ
แต่ถ้าคุณต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือต่อยอดธุรกิจ วิธีคิดยอดนิยมที่คนประสบความสำเร็จมักนำมาใช้เมื่อเดินมาถึง “ทางตัน” คือ การคิดย้อนยุค หรือสมัยนี้เราเรียกว่า การคิดแบบเรโทร (Retro) เป็นการหวนคืนกลับสู่อดีต กลับไปสู่วันวานที่ยังหวานอยู่ กลับไปยังสิ่งที่เราคุ้นเคย โดยธรรมชาติของทุกคนจะมีความประทับใจไม่รู้ลืมกับอดีตอันแสนหวาน เป็นความรู้สึกส่วนลึกในจิตใจ บางครั้งเกิดจากประสบการณ์ตรงในอดีต บางครั้งเกิดจากการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น จากปู่ ย่า ตา ยาย สู่รุ่นพ่อและมาถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน
“คิดย้อนยุค” เป็นการนำคุณค่าในอดีตมาสร้างประสบการณ์ในปัจจุบัน ทำให้คนเกิดความสุขและอมยิ้มที่ได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้น
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือต่อยอดธุรกิจโดยใช้การ “คิดย้อนยุค” มี 2 รูปแบบหลักๆ ครับ
1. คิดย้อนยุคแบบดั้งเดิม 100%
เป็นวิธีคิดที่นำของดีในอดีตมาใช้ในการต่อยอดธุรกิจเลย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ตัวอย่างเช่น นำสินค้าที่เคยขายดีในอดีตมาทำใหม่ นำหนังดังในอดีตที่นำมาทำใหม่อย่างเช่น บ้านทรายทอง – พจมาน สว่างวงศ์ เป็นทั้งละครและภาพยนต์ สร้างมากี่ครั้ง คนดูก็อินกับความรักระหว่างชายกลางและพจมานทุกครั้ง
หรือจะนำเพลงเก่านำมาร้องใหม่โดยนักร้องรุ่นใหม่ รักษาความเป็นต้นฉบับดั้งเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันคือ การนำนักร้องเก่ามาร้องเพลงดังของตัวเองในอดีต วงดนตรีที่มีอายุ 20-30 ปี กำลังกลับมาดังมากมาย นี่คือ การคิดย้อนยุคแบบดั้งเดิม 100% ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เอามาใช้เลย ช่วยต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก
หากเรามีธุรกิจอยู่แล้ว เราอาจต่อยอดธุรกิจโดยการทำเป็นเทศกาล หรือช่วงเดือนแห่งความรัก ช่วยเพิ่มยอดขายและการบอกต่อได้ดีทีเดียวครับ หรือทำเป็นธุรกิจใหม่โดยนำสินค้าหรือบริการดีดีในอดีตมาใช้ เช่น ร้านตัดผมแบบย้อนยุค ธุรกิจเช่ารถยนต์ย้อนยุค
2. คิดย้อนยุคแบบซีแอนด์ดี
เป็นวิธีคิดที่นำของดีในอดีตมาผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจ เช่น ผลิตนาฬิการุ่นใหม่แต่ทำให้หน้าตาย้อนยุค หรือรถยนต์รุ่นใหม่แต่หน้าตาโบราณๆ สำหรับคนที่รักของเก่า หรือการผสมผสานระหว่างของเก่าและของใหม่เข้าด้วยกัน จะเห็นได้มากในวงการออกแบบหรือแฟชั่น เช่น ชุดที่มีรูปแบบเก่าแต่ตัดด้วยวิธีการใหม่ๆ หรือเพชรที่มีรูปทรงตามราศีเกิด
ตัวอย่างของการต่อยอดธุรกิจและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่มได้มหาศาลคือ ธุรกิจอาหารฟิวชั่น (Fusion Food) แปลกใหม่ ผสมผสาน แตกต่าง และที่สำคัญราคาแพงขึ้น
อาหารฟิวชั่น เป็นอาหารที่ผสมผสานกันระหว่างวัตถุดิบและสไตล์อาหารตั้งแต่ 2 สัญชาติขึ้นไป โดยยังคำนึงถึงความลงตัวของรสชาติและการจัดแต่งหน้าตาของอาหารนั้นๆ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อาหารฟิวชั่นคือ “อาหารลูกครึ่ง” นั่นเอง
ทำไมต้อง “Fusion Food“ เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป หนุ่มสาวยุคใหม่ชอบการผสมผสานของวัฒนธรรม ความทันสมัย ความแปลกใหม่ การตกแต่งอย่างมีสไตล์ เก๋ไก๋ ให้เข้ากับอาหาร ด้วยความต้องการเหล่านี้ ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องให้ความสนใจที่จะคิดหาอะไรใหม่ๆ มารองรับตลาดของคนรุ่นใหม่ด้วย
“สิ่งสำคัญในการทำอาหารแนว Fusion Food“ ก่อนอื่น เราต้องมีความเข้าใจในรสชาติของอาหารแต่ละชนิด และสไตล์การตกแต่งของอาหารแต่ละชาติที่เราอยากจะทำมาฟิวชั่นกัน และสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้คือ “จินตนาการ” ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำมาสร้างสรรค์อาหารใหม่ๆ ออกมาได้หลากหลาย เพื่อตอบสนองความสุขให้ทั้งคนปรุง และคนทาน อย่างไม่รู้จบเลยทีเดียวครับ
วิธีคิดนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ชอบการประยุกต์ หรือเราเรียกว่า เลียนแบบ (อดีต/ปัจจุบัน) และพัฒนา (อนาคต) ให้ดีขึ้น หรือที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า มันคือ ซีแอนด์ดี (C&D: Copy and Development) แต่หัวใจจริงๆ ของมันคือ การผสมผสาน การนำสิ่งที่ดีในอดีตที่มีกลิ่นอายแห่งความทรงจำผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดูใกล้ๆ ตัว เข้าถึงง่าย วิธีนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่มได้มากทีเดียวครับ เพราะเป็นการสร้างความแตกต่างและไม่เหมือนใคร
“การคิดย้อนยุค” สามารถใช้ได้กับการต่อยอดสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว แป้ง สบู่ อาหาร ขนมโบราณที่ใส่รูปแบบใหม่ๆ เข้าไป รวมไปถึงธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เบเกอรี่ ใช้ได้หมดครับ การนำความคิดย้อนยุคมาต่อยอดธุรกิจจนประสบความสำเร็จมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลินวาน หัวหิน ตลาดอัมพวา แม่กลอง ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี ตลาดน้ำสี่ภาค พัทยา ล้วนแล้วแต่ใช้วิธี “คิดย้อนยุค” ทั้งสิ้น ผลคืออะไรครับ คนไปก็มีความสุข ผู้ประกอบการก็มีความสุข ของเก่ามันดีแบบนี้เอง ไม่งั้นตอนเราแก่ตัวลง คงไม่พูดถึงแต่ความหลังกันหรอกครับ
การเริ่มต้นธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจเวลาที่คุณนึกอะไรไม่ออกหรือถึงทางตัน ให้คุณนึกย้อนกลับไปในอดีตว่า ในอดีตเคยมีอะไรดีดี และนำอดีตนั้นมาสร้างธุรกิจ สร้างกำไร แค่เวลาเรานึกถึงอดีต เราก็อดอมยิ้มไม่ได้แล้ว แล้วอย่างนี้ลูกค้าจะไม่ยิ้มกับเราได้ยังงัย
คราวนี้คนที่อยากทำธุรกิจคงไม่พบ “ทางตัน” ง่ายๆ แล้วนะครับ วิธีคิดในการต่อยอดธุรกิจมันอยู่รอบตัวเรานี่แหละครับ แค่เพียงเราเปิดใจ แล้วให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ รอบๆ ตัว นั่นเท่ากับเราได้สร้างธุรกิจใหม่ของเราขึ้นมาอีกครั้ง การทำธุรกิจให้ได้กำไร คือการทำธุรกิจที่เรียบง่าย ดังคำกล่าวที่ว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ความซับซ้อนอาจดูดีครับ แต่ความเรียบง่ายที่ตอบโจทย์ทุกโจทย์ของลูกค้าจะนำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ ขอฝากคำคมสุดท้ายก่อนจบครับ “ถ้าไม่มีทาง ให้เราสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวของคุณเอง” … สวัสดี