ผู้นำกับการตัดสินใจ : สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


โลกที่พวกเราอาศัยอยู่กันทุกวันนี้ ดูทำท่าว่าจะวุ่นวายหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความที่อยากจะมีอำนาจ แย่งชิงทรัพยากรกันอย่างไม่เคยรู้จักกับคำว่า “พอเพียง” ทุจริตคดโกง เอารัดเอาเปรียบใครได้ก็รู้สึกว่าตัวเองเก่ง มีปัญญาล้ำเลิศกว่าเพื่อน บ้านเมืองไทยของเราก็ดูจะไม่แตกต่างไปจากประชาคมโลกสักเท่าใดนัก พอเราเปลี่ยนผู้นำทีหนึ่งก็มักจะมีการกล่าวอ้างให้ร้ายป้ายสีกันถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีทั้งที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ยังกำลังตรวจสอบกันอยู่บ้างก็มี แต่ผู้ถูกกล่าวหานั้นก็มักจะสะบักสะบอมไปทั้งตัวแน่นอนอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบผลการตรวจสอบแน่ชัด แต่บางคนแม้ผลการตรวจสอบจะยังไม่ออกมา ลักษณะบุคลิกภาพของบางท่านมันก็ส่อแววมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วก็มีอยู่บ้างในบางคนและบางสถานการณ์ และนี่แหละครับคือปัญหาและความยากลำบากของผู้นำในการที่จะชี้ขาดตัดสินใจลงไปว่าจะดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ อย่างไร  เพราะสภาพสังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ซึ่งมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ อะไรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ก็มักจะช่วยเหลือกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่พอมาเกิดเรื่องมีปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตคดบ้านโกงเมืองหรือความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ จนเป็นข่าวคราวเอิกเกริกกันใหญ่โต จะยังมาใช้ระบบอุปถัมภ์กันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ เห็นทีคงจะไม่ได้ ผู้นำหลายคนจึงมักมีอาการ “อีหลักอีเหลื่อ”  แล้วเราก็มักจะไม่ค่อยได้ฝึกให้ผู้คนรู้จักในเรื่องของการตัดสินใจมาตั้งแต่เด็ก มักจะถูกฝึกให้คอยสังเกตสัญญาณว่าผู้ใหญ่จะเอาอย่างไรในเรื่องนั้น ๆ มากกว่า พอมาเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องตัดสินใจเองเข้าจริง ๆ จึงเกิดอาการดังกล่าว

 

ผมคิดว่าแนวทางการตัดสินใจของผู้นำที่ดีในยุคปัจจุบันนี้จึงควรต้องตระหนักให้รอบคอบเพราะหากไม่เช่นนั้นแล้วการตัดสินใจเกิดผิดพลาดขึ้นมา มันจะทำให้อนาคตของการเป็นผู้นำของท่านดับวูบลงได้ในชั่วพริบตา ตัวอย่างในเมืองไทยก็มีให้ได้พบได้เห็นกันอยู่มากมายหลายท่าน ผมจึงอยากนำเสนอเป็นข้อพิจารณาในการตัดสินใจโดยอาศัยหลักปัจจัยและองค์ประกอบซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้เลย เป็น 3 ประการ ดัวยกัน คือ

 

ประการแรก  Legal Mechanism” หลักการนี้ผู้นำควรพิจารณาและตรวจสอบดูก่อนว่าถ้ามีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นมีหลักกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ในเรื่องนั้นอย่างไร มีอยู่หรือไม่ และหากต้องนำหลักดังกล่าวมาใช้ นำมาใช้ได้เลยโดยตรงหรือจะต้องมีการ “ตีความ”  ถ้าต้องมี  การ”ตีความ” ใครจะเป็น “ผู้ตีความ” หรือเป็น “ผู้ใช้ดุลยพินิจ” และหากผู้นำเห็นว่าเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ ก็ควรจะเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการออกกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติดังกล่าวเสียโดยไม่ชักช้าเพราะบางครั้งในทางกฎหมายนั้นเราถือว่า “การงดเว้นการกระทำ (ที่พึงจะต้องทำ) เป็นการกระทำความผิดอย่างหนึ่งด้วย”

 

ประการที่สอง Management Mechanism”  หลักการนี้กำลังเพิ่มเติมคำอธิบายที่ว่าแม้จะมีกฎหมาย มีระเบียบปฏิบัติที่ดีแต่ถ้าหากขาดการเอาใจใส่เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี ที่ถูกต้องโปร่งใสเป็นไปตาม “หลักธรรมาภิบาล” แล้ว หลักการตามกฎหมายนั้นก็อาจจะเท่ากับถูกละเลยเพิกเฉยได้เหมือนกับ “คนที่พูดความจริงแต่พูดไม่หมด” การบริหารจัดการบ้านเมืองหรือการบริหารจัดการในภาคเอกชนที่ดีจึงเป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศหรือพัฒนาองค์กรดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงได้ในที่สุด

 

ประการที่สาม “Social Mechanism” หลักการข้อนี้บางคนไม่ถือเป็นหลักการ แต่ผมคิดว่าเราคงปฏิเสธเงื่อนไขทางสังคมไม่ได้ ต่อให้เราอ้างความถูกต้องทางกฎหมาย อ้างความถูกต้องในแง่ของการบริหารจัดการของเรา แต่ถ้าสังคมเคลือบแคลงสงสัย แล้วเราตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนหรือตอบแบบอึก ๆ อัก ๆ คนที่ควรมีหน้าที่ที่จะต้องตอบกลับไม่มาตอบ คนที่ไม่ควรจะต้องมาตอบกลับออกมาพูดเป็นฉาก ๆ ผมบอกได้เลยครับว่า “ถ้าสังคมยังสงสัย คุณไปไม่รอดแน่”  มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ยังไงเสียเราคงปฏิเสธการรับรู้และการยอมรับของคนในสังคมไม่ได้  การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๆ ของบ้านเมืองส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากความเคลือบแคลงสงสัยและความไม่ยินดีในพฤติกรรมของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแทบทั้งสิ้น ยิ่งปัจจุบันการสื่อสารด้านข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและรู้ลึก การปิดกั้นการรับรู้หรือการปฏิเสธที่จะให้ผู้คนค้นหาความจริงเท่ากับยิ่งจะเป็นการกระพือให้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่โตและบานปลายแบบที่เราเรียกกันว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว” ไปได้  ดังนั้นผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำหรือผู้นำที่ดีจึงควรจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ให้มากเข้าไว้

 

การตัดสินใจของผู้นำจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ผู้นำจะต้องพร้อมรับการตรวจสอบและต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานของตนโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลแบบที่ผู้นำที่ดีทั่วโลกเขาโหยหากัน อย่าเป็นผู้นำที่คิดว่าผู้คนจะไม่รู้เท่ารู้ทันเพราะผู้นำที่ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องที่ไม่ควรจะผิดพลาด ผู้นำที่ตัดสินใจผิดพลาดทั้ง ๆ ที่มีผู้คนให้สัญญาณหรือเตือนให้ทราบล่วงหน้าแล้วเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่งเพราะ “มนุษย์ทุกวันนี้ไม่ได้โง่อย่างที่ผู้นำที่ฉลาดแต่ไม่เฉลียวบางคนคิด” นะครับ