กิจการ SME กับเรื่องของบัญชีกับภาษี ตอน กิจการ SME กับการเสียภาษีเงินได้ประจำปี : พรรณี วรวุฒิจงสถิต


เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ประกอบการ SME  ต้องปิดบัญชีเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี    สำหรับกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องไปยื่นแบบ ภงด 90 ภายในเดือนมีนาคม  ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลก็ต้องไปยื่นแบบ ภงด 50 ภายในเดือนพฤษภาคม  ในที่นี้หมายถึงถ้าปิดรอบบัญชีสิ้นสุดเดือนธันวาคม  เพราะกฎภาษีให้นิติบุคคลยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ภายใน 150 วันนับแต่วันปิดรอบบัญชี  แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักปิดรอบบัญชีตามปีปฏิทินนั่นคือสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

 

ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กิจการต้องรู้ว่ารายได้ที่ได้รับเป็นรายได้ประเภทใด  เพราะการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทกฎหมายจะมีบอกไว้ว่าหักได้เท่าไหร่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็สามารถหักลดหย่อนส่วนตัวได้อีก  หักแล้วเป็นเงินได้สุทธิเท่าใดก็ให้คำนวณไปตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ในการคำนวณยอดเงินภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ต้องมีการคำนวณเปรียบเทียบกับการใช้เงินได้ทั้งหมดไม่รวมเงินเดือนหากเกิน 60,000 บาท  คูณกับ 0.5%  หากคูณออกมาแล้วยอดไม่ถึงห้าพันบาท ก็ให้เสียภาษีไปตามวิธีแรกที่คิดได้  แต่หากคูณออกมาแล้วเกินห้าพันบาท แม้วิธีแรกจะไม่มีภาษีต้องเสีย ก็ต้องจ่ายขึ้นต่ำด้วยยอดที่คุณนี้  เรื่องแบบนี้นักบัญชีช่วยท่านคิดได้ หรือหากท่านคิดเองได้ก็จะได้เข้าใจว่าทำไมนะคิดแล้วไม่มีภาษี ยังต้องจ่ายอีก  เงินได้บุคคลธรรมดาเขาคิดตามปีปฏิทิน  และคิดจากเงินสดที่ได้รับ หากยังไม่ได้รับเงินก็ยังไม่ต้องเสียภาษี

 

รายได้บุคคลธรรมดามี 8 ประเภท

 

ประเภทที่  1  เงินเดือน ค่าจ้างที่เป็นลูกจ้างในกิจการ  ประเภทนี้ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้  40% ไม่เกิน 60,000 บาท

 

ประเภทที่  2  ค่ารับทำงานให้ หรือค่าแรงที่เราไปรับงาน  ค่านายหน้า เบี้ยประชุม เป็นต้น  ประเภทนี้ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้  40% ไม่เกิน 60,000 บาท

 

ประเภทที่ 3  ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิต่าง ๆ  กู๊ดวิล     ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายได้เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ โดยให้หักเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจาก พินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ประเภทที่  4 เงินปันผล ดอกเบี้ย   กฎหมายไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

ประเภทที่  5 รายได้ค่าเช่า                   กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้ คือ

 

การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
 

ก. หักตามความจำเป็นและสมควร   ซึ่งกรณีนี้ต้องมีเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ภาษี  หรือ

 

 ข. หักเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด
กรณี ผู้ให้เช่าทรัพย์สิน เรียกเก็บเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง หรือเงินค่าซ่อมแซม อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าเช่า หรือได้รับประโยชน์อื่น เช่น ได้กรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนที่ผู้เช่าทำการก่อสร้างลงบนที่ดินของผู้ ให้เช่าแล้วยกให้ เงินหรือกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการ ให้เช่าทรัพย์สินของผู้ให้เช่า

 

สำหรับอัตราหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมามีดังนี้

•   บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30   ยกเว้นในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้ เช่าเดิม หรือผู้ให้ เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

 

•  ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 20 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

 

•  ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 15 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสียให้ แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

 

•  ยานพาหนะ   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30 ในกรณี ให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

 

•  ทรัพย์สินอย่างอื่น   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 10 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

 

ในประเภทที่ 5 นี้ยังมีค่าผิดสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาเงินผ่อน ซึ่งกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายเป็นเป็นการเหมาได้ร้อยละ 20

 

ประเภทที่  6  วิชาชีพอิสระได้แก่วิชาชีพบัญชี ทนายความ แพทย์ วิศวกร สถาปัตย์  กฎหมายยอมให้เลือกหัก ค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

  —- ให้หักตามความจำเป็นและสมควรหรือ
  —- ให้หักเป็นการเหมาดังต่อไปนี้

1) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60

2) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระนอกจาก 1) หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30

 

ประเภทที่ 7  กิจการรับเหมาก่อสร้างที่ต้องรวมทั้งค่าแรงและค่าวัสดุ  กฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ
หักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 70

 

ประเภทที่ 8  คือรายได้อื่น ๆ นอกจากประเภท 1-7  ประเภทนี้ให้หักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้นเว้นแต่เป็นรายได้ที่อนุญาติให้หักเหมาได้ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ในพระราชกฤษฎีการฉบับที่ 11 หากไม่อนุญาตให้หักเหมาต้องหักตามจริง  การหักตามจริงคือต้องมีเอกสารหลักฐานที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์สรรพากรนั่นเอง

 

หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็สามารถหักลดหย่อนส่วนตัวได้อีกซึ่งประเภทค่าลดหย่อนเหล่านี้คิดว่าท่านคงทราบกันอยู่แล้วเมื่อหักหมดแล้วจะได้เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

สำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเสียจากกำไรสุทธิทางภาษี   โดยกำไรสุทธิทางภาษีได้มาจากรายได้ทางภาษีหักค่าใช้จ่ายทางภาษี และกรณีนิติบุคคลเสียภาษีตามเกณฑ์สิทธิ หมายความว่าไม่ได้ดูการรับเงิน หากเงินได้ ค่าใช้จ่ายเกิดในงวดนี้แล้วท่านต้องตั้งค้างรับค้างจ่าย ในกรณีนิติบุคคลนี้ท่านต้องนำส่งงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนพร้อมกับแบบ ภงด 50 ด้วย  ในแบบภงด 50 ท่านต้องปรับปรุงกำไรทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษี ตรงนี้เองที่ถ้าท่านไม่เข้าใจปรับปรุงไม่ถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็สามารถประเมินภาษีจากท่านได้  หมายความว่ากฎเกณฑ์ทางบัญชีกับภาษีบางครั้งต่างกัน บัญชีอาจไม่เป็นรายได้ แต่ภาษีบอกใช่  หรือค่าใช้จ่ายบัญชีก็ลงได้หมด แต่ภาษีอาจบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามไม่ให้นำมาหักกำไรภาษี  เป็นต้น  เมื่อได้ปรับปรุงกำไรบัญชีให้เป็นกำไรภาษีแล้ว  ก็ให้นำกำไรสุทธิทางภาษีนั้นไปคำนวณกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มีสองแบบ หากท่านเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้จากการขายสินค้าและบริการต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท อัตราภาษีจะเป็นดังนี้

 

กำไรสุทธิทางภาษี  300,000  บาทแรกได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

ส่วนที่เกิน    300,000  บาทแต่ไม่เกิน 3,000,000  บาทเสียในอัตราร้อยละ 15

ส่วนที่เกิน    3,000,000  บาทเสียในอัตราร้อยละ 20  ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

สำหรับบริษัททั่วไปที่ไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 20

 

ก็หวังว่าท่านผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายพอจะมีความรู้เบี้องต้นเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล  สำหรับนิติบุคคลหากท่านมีระบบบัญชีที่ดี  มีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ครบถ้วน ท่านก็ไม่ต้องกลัวว่า  จะโดนประเมินภาษีอีกต่อไป  เพียงแต่ขอให้ท่านให้เวลาทำความเข้าใจหลักเกณฑ์บัญชีกับภาษีให้เข้าใจ เพื่อเวลาที่ไปทำการค้า ทำรายการขาย จ่ายค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง   ส่วนรายละเอียด แน่นอนว่า ท่านคงต้องจ้างนักบัญชีมาช่วยทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปีใหม่นี้ก็หวังว่าทุกท่านจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยรุ่งเรือง สมปรารถนา และอย่าลืมว่าการเสียภาษีเป็นการช่วยชาติอย่างหนึ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ