มีบริษัทจำนวนมากที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปได้ จนสุดท้ายต้องล้มเหลวลงอย่างน่าเสียดาย ในจำนวนนี้ก็มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่สามารถกลับมาผงาดยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง และบางครั้งก็ยิ่งใหญ่กว่ายุคแรก ๆด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น สตาร์บัคส์ในยุค 2000 ประสบปัญหาหลายประการ Howard Schultz ผู้บริหารสตาร์บัคส์ ถือว่าโชคดีที่มีแบรนด์อันเข้มแข็งและโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทในธุรกิจอาหารและบริการที่ยังแข็งแกร่ง เพียงแต่หลาย ๆอย่างในบริษัทเดินผิดทาง และไม่โฟกัสกับเป้าหมาย สิ่งที่เค้าทำคือการจัดระเบียบบริษัทใหม่อีกครั้ง นำพาผลิตภัณฑ์ที่หลงทางกลับมาให้เข้าที่และสร้างแก่นหลักของบริษัทขึ้นมาใหม่ให้ทุกคนยึดถือ จากนั้นจึงพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆที่สอดคล้องกับแก่นหลักเหล่านี้ งานที่ยากที่สุดของ Howard Schultz ไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการเงิน หรือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ แต่เป็นการปลุกเร้าให้พนักงานทุกระดับเข้าใจเป้าหมายใหม่ที่เค้าต้องการวางไว้ในองค์กร สิ่งที่ Schultz ต้องการทำคือการพบปะบรรยาย เดินสาย ประชุม และใช้เทคนิคทางการพูด การสัมมนา การสื่อสารองค์กรหลากหลายประกอบกันเพื่อให้พนักงานของเค้าเข้าใจว่าองค์กรนั้นจะมุ่งไปทางใด
การพลิกฟิ้นสตาร์บัคส์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้า Schultz ไม่มีทีมบริหารซึ่งเป็นทีมชุดใหม่เกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากคนในของบริษัทที่ถูกเลือกขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็ดึงคนนอกที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆมาเสริมทีมด้วย เค้าบอกว่าการบริหารบริษัทยุคใหม่โดยใช้พนักงานเก่า ๆที่ถึงแม้จะอยู่กับบริษัทมายาวนาน แต่ยังยึดติดกับขนบธรรมเนียมแบบเดิม ๆนั้นเป็นไปไม่ได้เลย และหน้าที่ของเค้าในฐานะ CEO คือการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบริหารเหล่านี้ และเปลี่ยนมามอบหมายให้คนรุ่นใหม่ที่พร้อมมากกว่าแทน สุดท้ายไอเดียและคำปรึกษาจากผู้บริหารระดับสูงทั้งที่อยู่ในบอร์ดบริหารและกลุ่มที่เป็นเครือข่าย Schultz ก็มีส่วนร่วมสำคัญต่อการตัดสินใจของเค้ามาก เพราะถือเป็นคู่คิดในระดับเดียวกันกับ CEO แต่ก็ยังเป็นคนนอกองค์กรที่เห็นเหตุการณ์แจ่มใสชัดเจนยิ่งกว่า ตัวอย่างผลงานของคนนอกคือเว็บไซต์ mystarbucksidea.com ที่ Schultz ได้ไอเดียมาจาก ไมเคิล เดล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ “เดล” ซึ่งคัมแบ็กกลับมาเป็นซีอีโอรอบสองเหมือนกัน โดยที่ให้ลูกค้าแนะนำเสนอแนะบริษัทได้