ใช้คนถูกงาน : สุขุม นวลสกุล


หลักบริหารที่นักบริหารหรือคนอยู่ในวงการบริหารคุ้นเคยและมั่นใจว่าเป็นหลักที่ถูกต้องสมควรยึดมั่นเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพคือ “Put  the right man on the right  job”  หรือถอดเป็นภาษาไทยตรงตัวง่าย ๆ คือ “ใช้คนให้ถูกงาน”  หรือ “ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน” ก็ย่อมได้

 

ความหมายของหลักบริหารที่ยกขี้นมาข้างต้นคือ การที่นักบริหารจะใช้ใครทำอะไรต้องพิจารณาว่า  งานนั้นเหมาะกับผู้ที่เรามอบหมายให้ทำหรือไม่  หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือเมื่อเปรียบเทียบกับลูกน้องเราคนอื่น ๆ แล้ว  คนนั้นเหมาะที่สุดในการทำงานนั้น

 

ปัญหาในการบริหารของคนไทยโดยเฉพาะในอดีตที่ผ่านมาก็คือ  เราเคยชินกับการบริหารในหลักที่ขอเรียกในข้อเขียนนี้คือ “Put  the liked man on any job”  หมายถึงการ “ใช้คนที่พอใจในงานใดก็ได้”  หรืออาจจะให้หมายถึง “ใช้คนที่ไว้ใจในทุก ๆ งาน” ก็ได้

 

ทั้งนี้เกิดจากการที่ในบ้านเรามีวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันแบบระบบครอบครัวและระบบอุปถัมภ์มานาน   เพราะความเชื่อใจและวางใจในคนที่เป็นญาติพี่น้องและพรรคพวกว่า  จะจงรักภักดีและตั้งใจทำงานให้เรามากกว่าคนนอกวง   เหมือนอย่างคำพังเพยที่ว่า  “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ”

 

จะเห็นได้จากบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมานาน ๆ  มักจะมีคนที่เป็นเครือญาติกัน  นามสกุลเหมือนกันหรือเกี่ยวดองกัน  ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในบริษัท  คนนอกถึงจะมีบ้างก็ไม่มากนัก  คนที่เป็นวงศาคณาญาติมักจะมีโอกาสสูงกว่าคนอื่นในการทำงาน  สามารถลัดเข้าสู่ตำแหน่งได้บนพื้นฐานของระบบครอบครัวที่ใช้หลักความผูกพันหรือไว้วางใจในการพิจารณา

 

ยิ่งในทางการเมืองยิ่งเห็นได้ชัด  เช่น ในระบอบประชาธิปไตย  เวลาแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี   คนตั้งต้องพิจารณาจากคนในพรรคการเมืองเดียวกันเป็นหลัก  ใครทุ่มเทให้พรรคมากก็จะมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรีสูง  ทั้ง ๆ ที่บางครั้งอาจจะดูไม่มีความสามารถเท่าที่ควร  พอดำรงตำแหน่งแล้วถูกล้อเลียนว่า  เป็น “รัฐมนตรีที่โลกลืม” ให้ได้ยินกันอยู่ คือไม่มีผลงานออกมาให้คนพูดถึงเลย

 

ในทางตรงกันข้าม เวลามีการปฏิวัติหรือรัฐประหาร  คณะรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจก็คล้ายกัน  เรามักจะได้เห็นภาพลักษณ์ออกมาแบบยกกองทัพเอามาไว้ที่นี่   เอาคนที่เป็นแม่ทัพนายกองมาเป็นรัฐมนตรีเป็นทิวแถว   คนที่ควรจะได้ออกศึกสงครามอาวุธรบกับข้าศึกก็ต้องมาทำสงครามเศรษฐกิจ   เจอคนเก่งรอบรู้ปรับตัวได้ก็โชคดีไป  เจอคนที่เก่งเฉพาะเรื่องรบพุ่งก็ซวยไป   ทำไงได้ไม่ไว้ใจพวกเดียวกันแล้วจะให้ไว้ใจใครเล่า  จริงไหมครับ

 

ดังนั้นเฒ่าแก่ใหญ่ในบ้านเราสมัยก่อนจึงมักมีภรรยาหลายคนเพื่อจะได้มีลูกพอใช้   ไม่ใช่ความมักมากทางตัณหา  แต่เป็นไปเพื่อขยายสาขาหรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

 

เพราะฉะนั้น ระบบ “Put  the liked man…..”จึงกลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานที่ปรากฏอยู่ในทุกสถานที่ทำงาน  บางแห่งอาจไม่มีปัญหาอะไร  แต่บางแห่งก็อาจจะกลายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่พัฒนาหรือพัฒนาเหมือนกันแต่สู้กับองค์การที่ใช้หลัก “Put  the right  man…..” ไม่ได้

 

เพราะวันนี้  ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าขนาดใหญ่ขนาดเล็กหรือขนาดปานกลางต้องตระหนักว่า  อยู่ในบรรยากาศการแข่งขันซึ่งต้องการความมีประสิทธิภาพเพื่อเอาชนะหรืออยู่เหนือคู่แข่งขัน  ต้องแสวงหาคนเก่งที่เหมาะสมกับงานมาเป็นจักรกลของบริษัทขับเคลื่อนให้สู้กับคู่แข่งได้

 

บางตระกูลแก้จุดอ่อนระบบครอบครัวด้วยการสร้างสายเลือดให้ขึ้นเป็นมืออาชีพ  ด้วยการส่งลูกหลานไปฝึกงานในบริษัทอื่น  จนกระทั่งคิดว่าได้ศักยภาพถึงระดับแล้ว  จึงค่อยดึงกลับมาบริหารกิจการของครอบครัว  บางครั้งไปฝึกงานในต่างประเทศเลยทีเดียว  เพื่อไม่ให้มีบรรยากาศของความเกรงใจ  ต่อเมื่อมีประสบการณ์เพียงพอจึงจะได้รับการมอบหมายให้ทำงานของวงศ์สกุล

 

จริง ๆ แล้ว  การพยายามหามืออาชีพมาทำงานให้น่าจะง่ายกว่าการสร้างสายเลือดให้เก่งกล้าขึ้นมา  หรือบางครั้งสายเลือดอาจมีไม่พอให้ปลุกปั้น  เพราะมืออาชีพนั้นเราสามารถกราดสายตาออกมองหาอย่างกว้างขวาง  ไม่เหมือนสายเลือดที่ต้องจำกัดเฉพาะสายตรงหรืออย่างมากก็วงศาคณาญาติ

 

วันนี้เราจึงได้เห็นบริษัทที่เคยมีภาพลักษณ์ของการบริหารแบบครอบครัว  เปลี่ยนโฉมเพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย   บางบริษัทถึงขนาดเปลี่ยนชื่อเดิมจากชื่อเฉพาะตระกูล เช่น เอานามสกุลหรือชื่อเจ้าของเป็นชื่อบริษัท  เป็นชื่อกลาง ๆ  หรือชื่อต่างประเทศไปเลย   เพื่อไม่ให้มองว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่งหรือสกุลใดสกุลหนึ่ง

 

ตำแหน่งสำคัญ ๆ ของบริษัทก็มีผู้คนนามสกุลหลากหลายเข้าดำรงตำแหน่ง  ไม่ใช่ประธานกรรมการ รองประธาน  ผู้จัดการ นามสกุลเดียวกันหมด  หรือผู้จัดการนามสกุลต่างจากผู้อำนวยการก็จริงแต่เป็นคนที่ใช้นามสกุลเดิมของท่านประธาน  พูดง่าย ๆ คือเป็นเครือญาติเกี่ยวดองกัน  อย่างนี้ก็ถือเป็นระบบครอบครัวชัดเจน

 

การที่จะได้คนที่มีความรู้ความสามารถระดับมืออาชีพเข้ามาร่วมทำงาน  เรื่องสำคัญที่สุดก็คือผลประโยชน์ที่เขาจะได้จากการทำงานที่ต้องให้เขามีความพอใจจนถึงถึงขั้นถูกใจ  หรือมีส่วนได้เสียแบบหุ้นส่วนจนเขาคิดว่ากำไรของบริษัทส่งผลประโยชน์ให้เขาด้วย  ไม่ได้เป็นแค่ลูกจ้างรับเงินเดือนประจำเท่านั้น  อาจต้องให้เป็นหุ้นส่วนเลยทีเดียว

 

นอกเหนือผลประโยชน์บรรยากาศการทำงานก็เป็นเรื่องจำเป็น  อย่าให้มืออาชีพรู้สึกว่าตัวเขาต้องทำงานแบบ “ข้ามาคนเดียว”   ต้องให้ความร่วมมือให้ความเคารพในการทำงานของเขา  อย่าให้เกิดความรู้สึกถูกกีดกันถูกบล๊อคงานด้วยคนวงในหรือกลุ่มญาติพี่น้อง  อย่าใช้มติที่ประชุมเป็นการตัดสินใจขององค์กร  เพราะเสียงข้างมากของที่ประชุมมักถูกมองว่าเป็นของวงศ์ตระกูล

 

ที่เขียนมาข้างต้นนี้  เป็นการชี้ให้เห็นว่า  ที่มาของหลักการ “Put  the liked man on any job” นั้นมีความเป็นมาอย่างไร   สิ่งที่อยากเสนอแนะต่อไปก็คือ  ถ้าเราเป็นนักบริหารจะดำเนินการอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นไปตามหลัก “Put  the right man on the right  job”  โปรดติตามตอนต่อไป