ผมได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อเกี่ยวกับนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาหลายครั้ง การบรรยายครั้งหนึ่งที่ผมอยากยกตัวอย่างให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับ “เหตุผลที่เราควรทำนวัตกรรม” เป็นการบรรยายที่ผมรู้สึกอยากให้หน่วยงานนำสิ่งที่บรรยายไปใช้ประโยชน์มากที่สุดครั้งหนึ่ง หน่วยงานนั้นคือ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.)
องค์การสวนสัตว์ฯ เป็นผู้ดูแลสวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น และโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งหลายท่านคงเคยไปเที่ยวที่สวนสัตว์ใดสวนสัตว์หนึ่งตามรายชื่อข้างต้นมาแล้ว แต่อาจนานมากจนจำไม่ได้ว่าไปครั้งล่าสุดเมื่อไหร่เหมือนผมจนต้องถามว่า “เราไปสวนสัตว์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?”
เหตุผลที่ผมอยากให้องค์การสวนสัตว์ฯ ทำนวัตกรรมคือ สวนสัตว์เปรียบเสมือน “ห้องสมุดมีชีวิต” และเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ความสัมพันธ์ ความผูกพัน และจินตนาการอันไร้ขอบเขต
การทำนวัตกรรมจะทำให้เกิดคุณค่าเพิ่ม ทำให้หน่วยงานมีคุณค่าและผู้ใช้บริการได้รับคุณค่านั้น และมีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีเต็มที่
การสัมผัสกับสิ่งมีชีวิตที่แปลกใหม่ทำให้คนเราเกิดคำถามและจินตนาการมากมาย
– ทำไมนกถึงบินได้ ฮิปโปต้องอยู่ในน้ำ ลิงต้องปีนต้นไม้
– ทำไมช้างต้องมีงวง แรดต้องมีนอ ม้าลายไม่มีเขา
– ทำไมแพนด้าต้องกินใบไผ่
– ทำไมกวางเผือกถึงมีสีขาว
และอีกหลายทำไม
แต่…ทำไมสวนสัตว์ถึงมีแต่เด็กที่เรียกร้องให้พ่อแม่พาไป และทำไมจึงไม่มีวัยรุ่นที่ไหนอยากเข้าไปเรียนรู้ในสวนสัตว์ ทั้งที่เป็นสถานที่ที่เสียค่าผ่านประตูหรือค่าใช้จ่ายน้อยมาก
และนี่คือสิ่งที่ผมบอกกับผู้เข้าร่วมฟังบรรยายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และผู้บริหารขององค์การสวนสัตว์ฯ “คุณควรจะทำนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้แล้ว”
ถามว่านวัตกรรมคืออะไร ตอบแบบง่ายๆ นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงและทำให้เกิดประโยชน์ เป็นสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ หรือเป็นสิ่งที่อาจเคยทำในประเทศอื่นๆ อุตสาหกรรมอื่นๆ แล้วเราเอามาใช้ในธุรกิจของเรา
โจทย์ที่ผมตั้งขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารขององค์การสวนสัตว์ฯ คือ
– ทำอย่างไรให้มีคนไทยอยากต่อคิวเข้าสวนสัตว์ทุกแห่ง –
– ทำอย่างไรให้สวนสัตว์ในประเทศไทยเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ หรือ ทัวร์จีน เอเชีย ยุโรป เข้ามาเมืองไทยแล้วต้องมาสวนสัตว์ไทย เป็นโปรแกรมที่ขาดไม่ได้หรือ The Must –
โจทย์ที่ผมตั้งให้มันยากมาก และปกติไม่มีใครเค้าถามกัน เพราะถ้าถามไป คนก็จะถามกลับว่า คนถามบ้าหรือเปล่า มันเป็นไปไม่ได้ นั่นแหละครับ ความเป็นไปไม่ได้จะก่อกำเนิดนวัตกรรม
คนที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Impossible แปลว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกว่า คนที่คิดว่าเป็นไปได้ ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า I’m possible แปลว่าชั้นทำได้ เขียนเหมือนกันเด๊ะ แต่ความหมายต่างกันราวฟ้ากับดิน นี่แหละครับ อานุภาพของมุมมองและทัศนคติต่อของอย่างเดียวกันแต่ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันมหาศาล
ถ่านกับเพชร เป็นธาตุคาร์บอนเหมือนกัน แต่คุณค่าและมูลค่าของมันต่างกันมหาศาลครับ ดังคำพูดที่ว่า “ท้อเป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร”
เมื่อมีคำถาม (เป้าหมาย) ที่ท้าทาย คุณจะพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อตอบคำถาม (เป้าหมาย) นั้น และมันจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้น เพราะคุณไม่สามารถทำวิธีการเดิมๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้เลย
สิ่งที่ผมแนะนำเบื้องต้นในการทำนวัตกรรมของสวนสัตว์ไทยคือ
1. การทำนวัตกรรมจากสิ่งที่มี
การค้นหาคุณค่า “Value” ของมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เอกลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ ที่สร้างคุณค่าทางสังคม มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปอย่างสมดุล
2. การสร้างจุดเน้นให้เป็นสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
ทำอย่างไรถึงจะทำให้การพัฒนานั้นต้นทุนไม่เพิ่มและโดนใจมากขึ้น จุดเน้น ใจความหรือ “Theme” ของสวนสัตว์ต้องมีความชัดเจน รื่นไหล และเข้าไปถึงจิตใจของเด็ก สตรี วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งคนชรา ต้องทำให้คนรู้สึกว่ามากี่ครั้งก็ไม่เบื่อ อยากมาอีกหลายๆ ครั้ง มาแล้วอยากอยู่นานๆ เหมือนดังพิพิธภัณฑ์ชื่อดังหลายๆ แห่งทั่วโลก
3. การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าหรือบริการที่มีอยู่
การสร้างเรื่องราว หรือ “Story” ให้ดีและสะท้อนความเป็นตัวตน ซึ่งในที่นี้คือ สวนสัตว์ในจังหวัดต่างๆ ต้องมีความต่อเนื่องและเดินไปในทิศทางที่น่าติดตาม เมื่อคนมาเที่ยวสวนสัตว์ดุสิตแล้ว อยากไปสวนสัตว์เชียงใหม่ อยากไปสวนสัตว์สงขลาต่อ ต้องมีจุดเชื่อมให้ได้
ภาษาธุรกิจเรียกว่า Cross-Selling หรือ Convergence ก็คือการขายของอย่างหนึ่งแล้วเอาไปเป็นส่วนลดของอีกอย่างหนึ่งเพื่อให้คนซื้อของเพิ่มขึ้นๆ แบบที่ร้านสะดวกซื้อ 7-eleven ชอบทำ หรือในเชิงกลุ่มธุรกิจ True ที่ซื้อของในกลุ่มธุรกิจหนึ่งแล้วเอาไปเป็นส่วนลดอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่ง เอาค่าโทรศัพท์ไปเป็นส่วนลดซื้อกาแฟ ทำให้เกิดการรวมพลังของสิ่งที่มีอยู่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ
คำถามแทงใจที่ผมได้รับจากผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายคือ
(1) ทำแล้ว ไม่มีงบประมาณประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จะทำอย่างไร
ประเด็นสำคัญที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ โลกยุคโลกาภิวัฒน์ หากคุณทำนวัตกรรมได้ดีและโดนใจ จะมีคนเข้ามาหาคุณ นำเงินมาให้ ประชาสัมพันธ์ให้ และสุดท้ายจะเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สร้างเงินหมุนเวียนให้กับประเทศต่อไป
(2) เราจะเริ่มเรื่องราวของเราอย่างไร
ผมแนะนำว่า เริ่มจาก “สิ่งที่มี” ไปสู่ “สิ่งที่เป็น“ ลองนึกทบทวนว่า เกิดอะไรขึ้นในอดีตที่ผ่านมาของสวนสัตว์หรือองค์กรของคุณ และค่อยๆ ค้นหาจุดเริ่มต้นออกมา สิ่งนั้นคือ หัวใจของการดำเนินงาน
องค์กรสวนสัตว์อาจไม่ใช่องค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ แต่การสร้างสรรค์นวัตกรรมในสวนสัตว์จะทำให้เกิดเศรษฐกิจไทยสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาลในประเทศไทยอย่างที่คุณคาดไม่ถึง นวัตกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาแล้วมากมาย และครั้งนี้อาจเกิดเหตุการณ์ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว“ ก็เป็นไปได้
โจทย์ เหตุผลและวิธีการในการทำนวัตกรรมของผู้ประกอบการก็ไม่ได้แตกต่างจากองค์การสวนสัตว์ฯ มากนัก
ทำอย่างไรให้มีคนอยากต่อคิวเข้าร้านของคุณแบบที่โดนัทยี่ห้อ Krispy Kreme ทำให้มีการต่อคิวในประเทศไทยหรือ Apple ทำให้ Iphone ต้องมีการต่อคิวรอซื้อทั่วโลก
ทำอย่างไรให้สินค้าของคุณเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ หรือ ทัวร์จีน เอเชีย ยุโรป เข้ามาเมืองไทยแล้วต้องมาร้านของคุณ เป็นโปรแกรมที่ขาดไม่ได้หรือ The Must เหมือนอย่างที่กระเป๋ายี่ห้อ NaRaYa ของไทยทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้มาแล้ว
ผู้ประกอบการทำนวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด ทำให้สินค้า บริการหรือธุรกิจเรามีคุณค่าเพิ่มขึ้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีต้นทุนต่ำลง และดึงตัวเราให้แตกต่างจากคนอื่นๆ และสู้กับสินค้าจากต่างประเทศได้
นวัตกรรมต้องเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ จากภูมิปัญญาหรือเอกลักษณ์ที่มีแล้วสร้างเป็นสิ่งใหม่ที่อยากให้เป็น
นวัตกรรมต้องมีการสร้างคุณค่า มีการสร้างจุดเน้น ใจความ และต้องมีการสร้างเรื่องราว
มีนวัตกรรมแล้วไม่มีเงินประชาสัมพันธ์ ยุคนี้คุณไม่ต้องกลัว มันเป็นยุคของคนชอบแชร์ของแปลก ของใหม่ ของดี ของเด่น แล้วมันจะกลายเป็นของดังเอง
ทั้งหมดคือเหตุผลที่ผู้ประกอบการควรทำนวัตกรรม นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งน่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความสามารถ ไม่ได้ใช้เงินมากมายอย่างที่คิด ขอแค่ผู้ประกอบการค่อยๆ เริ่มจากสิ่งที่มี สุดท้ายคุณจะได้เป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็น…สวัสดี