ช่วงฤดูหนาวในปีนี้ ถึงจะมาช้าไปสักนิด แต่ในหลาย ๆ จังหวัดของประเทศไทยต้องพบกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลง จนทำให้หลาย ๆ คนเกิดอาการเจ็บป่วยได้ ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น สลับร้อนและฝน ทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสพบได้บ่อยขึ้น สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงให้คำแนะนำและเตือนประชาชนพึงระวัง 7 โรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูหนาว ดังนี้
1.โรคสุกใส หรือ บางคนเรียกอีสุกอีใส ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก โรคสุกใสเกิดจากจากเชื้อไวรัส (Varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง และการสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย ในขั้นแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และต่อมาจะเริ่มมีเป็นตุ่มน้ำ ใสๆเหมือนหยดน้ำขึ้นตามตัว ถ้าเป็นแล้วต้องระวังแบคทีเรียแทรกซ้อน และถ้าป็นในผู้ใหญ่ต้องห้ามแกะเกาเด็ดขาดเพราะจะเป็นหลุมแผลเป็นได้ง่าย
2. โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดสุกใส (Varicella virus) จะเกิดในผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหายเชื้อไวรัสจะหลบเข้าไปในปมประสาทรับความรู้สึกโดยจะอยู่แบบไม่แบ่งตัว เมื่อร่างกายอ่อนแอ ไวรัสที่แฝงอยู่จะก่อให้เกิดอาการไข้และปวดรุนแรงตามแนวยาวของปมประสาท โดยจะพบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสเป็นแนวด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย มักจะมีอาการปวดแปล๊บบนบริเวณเส้นประสาทร่วมด้วย
3.โรคเริม เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม HERPES (Hsv–1/Hsv-2) เริมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำขนาดเล็ก มีขอบแดง แต่ไม่เรียงตามแนวเส้นประสาท พบได้บ่อยที่บริเวณริมฝีปาก อวัยวะเพศ และก้น การติดเชื้อครั้งแรก มักจะมีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงมีอาการอักเสบ ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมแล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมได้บ่อย โดยมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดซ้ำ คือภาวะเครียด ภูมิต้านทานร่างกายต่ำลง พักผ่อนไม่เพียงพอ ใกล้มีประจำเดือน หรือถูกแสงแดดจัด เริมสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผล และการมีเพศสัมพันธ์
4. โรคหัด มักเป็นในเด็กอายุ 1 ปี จนถึงระดับประถมศึกษา โดยมักมีอาการไข้สูง ไอมาก ตาแดงคล้ายเป็นหวัด ต่อมามีผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ขึ้นทั่วตัว แขน และขา โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ การป้องกันโรคหัด คือต้องรักษาสุขภาพให้ดีในฤดูหนาว อากาศเย็นควรใส่เสื้อผ้าหลายชั้น แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุดและเด็กทุกคนควรทำ คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด
5. โรคหัดเยอรมัน ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้นจะมีผื่นขึ้นที่หน้า คอ ลำตัว แขนและขา ผื่นมักขึ้นเต็มตัวภายในระยะเวลา 1 วัน และมีต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นมักจะหายไปเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นในเด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันตามเกณฑ์เพื่อป้องกันการเกิดโรค และมีความสำคัญว่าถ้าสตรีมีครรภ์เป็นขณะตั้งครรภ์จะทำให้ทารกพิการได้
นอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสแล้ว โรคผิวหนังอักเสบที่อาจจะกำเริบช่วงหน้าหนาว ได้แก่
6. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันผิวหนังรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะเกา ซึ่งการเกาอาจจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อตามมา ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักจะมีลักษณะผื่นเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก มักเป็นที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ
7. โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrtheic dermatitis) มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ดเป็นมัน ขอบเขตชัดเจน ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู และหนังศีรษะ เนื่องจากอากาศในฤดูหนาวทำให้ผิวแห้ง จึงทำให้ผื่นชนิดนี้มีโอกาสเกิดได้มากขึ้น
ดังนั้นทุกคนควรพึงระวังใส่ใจกับตัวเองสักนิด อากาศช่วงฤดูหนาวมักมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยอยู่เสมอ จึงควรทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังสม่ำเสมอระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ
ขอบคุณข้อมูลจากสมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย ขอบคุณรูปจาก http://health.mthai.com/