ต้องการเงินทุน จะก่อหนี้ หรือ จะเพิ่มทุน : เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์


เจ้าของธุรกิจย่อมหวังผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ หากมีเงินลงทุนส่วนตัวทำธุรกิจได้ (เงินลงทุนส่วนตัว บวกกับรายได้จากการดำเนินงาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bootstrapping) ผลตอบแทนที่ได้มา จะไม่ต้องแบ่งใคร ดูเป็นเรื่องง่ายสินะครับ แต่เมื่อความฝันและปรารถนาอันยิ่งใหญ่ ธุรกิจต้องใช้เงินทุนสูงขึ้น และคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากขึ้นตามไปด้วย เงินลงทุนส่วนตัวอาจไม่เพียงพอ

 

หรือในกรณีธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ต้องขยับขยาย เงินทุนหมุนเวียนมีจำกัด เช่น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีค่าเช่าสูงขึ้นเมื่อขยายพื้นที่หรือขยายสาขา ต้องซื้อสินค้าเตรียมขายมากขึ้น

 

หรือในอีกกรณีเมื่อความฝันกลายเป็นฝันร้าย ธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คิด เงินลงทุนส่วนตัวใช้จนจะหมดหน้าตัก และผลตอบแทนจากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาดหวัง และดึงเงินกำไรสะสมมาใช้อีก ทั้งสามกรณีที่กล่าวมา ผู้ประกอบการต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น จากแหล่งเงินทุนภายนอก เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ หรือเพื่อใช้ปรับตามแผนธุรกิจใหม่ (Turnaround Plan)

 

แหล่งเงินทุนจากภายนอก ที่เราๆ ท่านๆ รู้จัก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ จากการระดมทุน เป็นหุ้นส่วนกัน (Equity Financing) ขายหุ้นแลกมาเป็นเงินสด และ จากการกู้ยืมเงิน จากบุคคล หรือนิติบุคล หรือสถาบันการเงิน (Debt Financing) ซึ่งทั้งสองแหล่งเงินทุนมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกันไป และแน่นอนเราต้องแบ่งส่วนกำไร หรือผลตอบแทนจากการดำเนินงานให้กับแหล่งเงินทุนนี้ด้วย

 

โดยสังเขป ถ้าเราประกาศเพิ่มทุน หาผู้ร่วมลงทุน หุ้นส่วนใหม่จะมาถือครองความเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกับเรา มีสิทธิในการออกเสียง จะเสียงมากเสียงน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ถือ สิทธิต่างๆ ได้แก่ สิทธิในการเลือกทีมบริหาร สิทธิในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ เป็นต้น ด้วยผลที่เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ที่เข้าร่วมลงทุน หวังผลตอบแทนเป็น เงินปันผล ซึ่งจะกำหนดได้ว่าจะจ่ายเงินปันผลเมื่อไร เช่นจะประกาศจ่ายเงินปันผลจะขึ้นอยู่กับผลกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินงานจำนวนเท่าไร แต่เดี๋ยวก่อนครับ ถ้าบริษัทมีขาดทุนสะสมมาก่อน ปีล่าสุดมีกำไร จะมาจ่ายเงินปันผลไม่ได้นะครับ ต้องนำกำไรมาล้างขาดทุนสะสมก่อน จึงสามารถจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ต้องเข้าใจจุดนี้ หวังจะมาได้เงินปันผลในปีที่ลงทุนแล้วกำไรไม่ได้ ต้องศึกษาธุรกิจเข้าไปลงทุนก่อน และเจ้าของกิจการต้องเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีให้ผู้ถือหุ้นใหม่ทราบอย่างละเอียด

 

ความสวยงามของการออกหุ้นเพิ่มทุนที่ผู้ประกอบการมองเห็นคือ จะได้มาแบบไม่ต้องมีภาระผูกพันว่าจะชำระคืนเมื่อไร และหากได้พบกับผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีธุุรกิจที่มาต่อยอดให้กับกิจการของผู้ประกอบการด้วยแล้ว ไม่ได้แค่เงินทุนเพิ่ม แต่ได้โอกาสในการเติบโตด้วย บวกๆ กันไปครับ แต่เดี๋ยวก่อนครับ กล่าวแล้วว่า ผู้ถือหุ้นย่อมมีสิทธิในการออกเสียง ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้ถือหุ้นจะกำหนดให้ธุรกิจจะต้องสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) เช่นจะต้องได้ 35% ต่อปี แรงกดดันจะมาสู่ท่านๆ เจ้าของกิจการเดิม ซึ่งมองในแง่ดีคือ ทำให้เรามีแรงผลักดันไปสู่การทำงานให้ได้ประสิทธิผลมากขึ้น

 

ผู้ถือหุ้นใหม่ที่เป็นนักลงทุนมืออาชีพ (Venture Capitalist) จะวางแผนการออกจากธุรกิจเราในเวลาอันสมควร พวกเขาคาดหวังว่าเงินลงทุนไปจะได้คืนกี่เท่า เช่นลงเงินวันนี้ 1 ล้านบาท หวังจะได้คืน 10 ล้านบาท เวลาไม่ได้ถูกกำหนด ยิ่งเร็วยิ่งดี ดังนั้นนักลงทุนนี้จะมากำหนดทิศทางของแผนธุรกิจ ให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วขายในมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น หรือพัฒนาแผนกลยุทธ์ให้ธุรกิจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูงนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาซื้อในราคาหุ้นใหม่ ซึ่งสูงกว่าราคาหุ้นที่พวกเขาซื้อมาแน่นอน  อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมองเห็นว่าถือครองหุ้นในธุรกิจนี้แล้วมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ พวกเขาจะหาทางออกเพื่อตัดขาดทุน ในกรณีนั้นมีหลายวิธี เช่นการควบรวมกิจการ การขายกิจการ เป็นต้น การเลิกกิจการจะเป็นทางออกสุดท้ายที่จะทำ ดังนั้นคิดจะใช้วิธีระดมทุนแบบนี้ต้องคิดให้ดีๆ คัดเลือกผู้ถือหุ้น และกำหนดแผนธุรกิจให้ชัดเจน ตกลงกันให้เข้าใจว่าจะอยู่กันอย่างไร แบ่งผลประโยชน์กันอย่างไร และจะจากกันด้วยวิธีใด

 

หากไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวายกับแผนการทำงานของเรา แหล่งเงินทุนดั้งเดิมที่ผู้ประกอบการธุรกิจถนัดใช้คือ การกู้ยืมเงิน (Debt Financing) ไม่ว่าจะมาจากบุคคล หรือจากสถาบันทางการเงิน พวกเขาจะไม่มาออกเสียงว่าเราจะต้องทำอะไร ไม่มาก้าวก่ายการทำงานภายใน แต่พวกเขาจะให้เรายืมเงินต่อเมื่อ เขาได้วิเคราะห์ธุรกิจของเราอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า มีความสามารถจะจ่ายชำระหนี้คืน และมีความเต็มใจจะชำระหนี้คืน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นภาระผูกพันที่กิจการจะต้องทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ สถานะไม่ใช่ผู้ร่วมทุน แต่จะกลายเป็นเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ขึ้นชื่อว่า “เจ้า” แล้ว ย่อมมีอำนาจเหนือกว่า “ผู้” ถือหุ้นแน่นอน ตามกฎหมาย กิจการจะต้องจ่ายชำระ “หนี้” หรือเงินกู้ก่อนผู้ถือหุ้นเสมอ

 

เพราะภาระผูกพันเรื่องการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ กิจการจะกู้ยืมเงิน หรือก่อหนี้ จะต้องพิจารณาการใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ จะใช้เพื่อเงินทุนหมุนเวียน หรือใช้ในระยะสั้นๆ ให้ขอวงเงินเป็นหนี้สินระยะสั้น เช่นวงเงินเบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน  และจะใช้เพื่อลงทุนในสินทรัพย์เพื่อก่อผลระยะยาว เช่นซื้อที่ดิน ซื้ออาคาร ซื้อเครื่องจักร เป็นต้น ให้ขอสินเชื่อระยะยาว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน อัตราดอกเบี้ยหนี้ระยะสั้นจะสูงกว่าหนี้ระยะยาว หากใช้กลับกันจะมีไม่สามารถบริหารการชำระหนี้ได้ เช่นนำเงินกู้ระยะสั้นไปซื้อที่ดิน หมุนเงินจ่ายกันวุ่นเลยครับ เพราะทั่วไปที่ดินไม่ได้ให้ผลตอบแทนมาจ่ายหนี้ในระยะสั้นๆ เป็นต้น

 

ข้อดีของการใช้แหล่งเงินทุนประเภทหนี้สินนี้ คือดอกเบี้ยจ่ายนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี และมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นทุน เพราะมีภาระผูกพันแค่ชำระหนี้ตามสัญญา ไม่ต้องกังวลในเรื่องของอัตราผลตอบแทนของธุรกิจที่สูงที่ผู้ถือหุ้นคาดหวังไว้ และผู้ถือหุ้นเดิมไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของเหมือนกับวิธีระดมเงินหุ้นทุน

 

คำแนะนำสำหรับบริษัทเริ่มต้นใหม่ (Start-Up) มีประวัติการทำงานค่อนข้างจำกัด แผนธุรกิจและแผนการเงินยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน กิจการลักษณะนี้จะขอสินเชื่อค่อนข้างยาก แนะนำให้มองหานักลงทุน หรือกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีประสบการณ์ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจเราได้ มาถือหุ้นเพื่อดำเนินธุรกิจเริ่มต้น มาร่วมกันเป็นทีมบริหาร จะช่วยให้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาจำเป็น ซึ่งธุรกิจที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่จะต้องมาชำระหนี้เป็นประจำ เป็นภาระหนักให้บริษัทเริ่มต้นใหม่ แทนที่จะดูแลให้ธุรกิจเติบโต แต่กลับต้องมาห่วงว่าจะจ่ายหนี้รายเดือนอย่างไร

 

แหล่งเงินทุนทั้งสองแบบมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจ ขึ้นอยู่การยอมรับความเสี่ยง และขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ถือหุ้นเดิม (เจ้าของกิจการ) จงเลือกใช้ให้เหมาะสม ซึ่งกิจการสามารถใช้แหล่งเงินทุนทั้งสองแบบได้ โดยจัดโครงสร้างให้พอดี สัดส่วนหนี้สินและทุน ผลประโยชน์เกิดขึ้นแน่นอน