ค่าใช้จ่าย ความเสี่ยง SME : ดร. เรวัต ตันตยานนท์


เป็นที่ทราบดีแล้วว่า ธุรกิจ SME ต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ที่มักจะพูดถึงกันบ่อยและมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ ความเสี่ยงในการไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือทำธุรกิจแล้วต้องเสี่ยงกับการขาดทุนอยู่ตลอดเวลา ไปจนถึงการเสี่ยงต่อการล้มเหลวจนต้องเลิกธุรกิจไป

 

ถึงแม้ว่า SME จะมีลักษณะหนึ่งที่คล้ายๆ กันคือมีความชอบที่จะเสี่ยง นิยมความท้าทายของการได้บริหารกิจการที่อาจต้องเผชิญภาวะเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมาสูงสุด ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงมีประการหนึ่งของผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ

 

ในบางครั้งเจ้าของหรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมก็ไม่อาจสามารถรับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจของตนได้เต็มที่ หากไม่มีการเตรียมการที่รอบคอบไว้ก่อน

 

ความเสี่ยงก็คือ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เราไม่ได้คาดคิดหรือต้องการให้เกิดขึ้น โดยมีผลทำให้เกิดความสูญเสีย การเผชิญเคราะห์กรรม หรือผลกระทบในเชิงลบ ลองมาพิจารณาดูกันว่า มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมอาจต้องประสบ

 

1. ความเสี่ยงจากผลการดำเนินธุรกิจได้แก่ ความล้มเหลวของการประกอบธุรกิจ การขาดทุน รวมไปจนถึงสภาวะการล้มละลาย ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการ หรือจากระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของผู้ประกอบการ

 

2. ความเสี่ยงที่จะเกิดต่อทรัพย์สินของธุรกิจ ทรัพย์สินที่จะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุด คือทรัพย์สินที่มีตัวตน ยิ่งเป็นทรัพย์สินที่มีขนาดใหญ่หรือมีมูลค่าสูง ก็ยิ่งเกิดความเสี่ยงที่จะสร้างความกระทบกระเทือนต่อธุรกิจได้อย่างรุนแรง เช่น ตึกอาคารที่ทำการ โรงงาน หรือโกดังสินค้า เป็นต้น หากเกิดความเสียหายขึ้น ก็จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจหรือทำให้ธุรกิจชะงักได้ทันที

 

เราอาจแบ่งความเสี่ยงที่จะเกิดต่อทรัพย์สินเป็นหมวดย่อยๆ ได้อีก เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติ อันได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ หรือแม้กระทั่งลูกเห็บตก ฯลฯ ที่อาจสร้างความเสียหายอย่างคาดไม่ถึงต่อทรัพย์สินของกิจการได้

 

เราป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้โดยใช้การประกันภัยล่วงหน้า นอกจากนี้ความเสี่ยงจากการถูกลักขโมยทรัพย์สิน การยักยอก ฉ้อโกงทรัพย์สิน จากผู้ไม่ประสงค์ดีก็อาจเกิดขึ้นได้และมีผลกระทบต่อธุรกิจ

 

ในหลายๆ ครั้งความเสียหายต่ออุปกรณ์สำนักงานที่เกิดจากการจ้างบุคคลหรือช่างที่ไม่มีความรู้ความสามารถมากพอ เนื่องจากเห็นว่าค่าใช้จ่ายถูก แต่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายตามมาภายหลังก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ สิ่งที่อาจไม่คาดคิดเหล่านี้ ล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการเสียหายของทรัพย์สินอีกประการหนึ่ง

 

สำหรับกิจการค้าปลีกหรือร้านสินค้าสะดวกซื้อ ตลอดไปจนถึงธุรกิจห้างสรรพสินค้า อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อความสูญเสียจากนักหยิบฉวยในคราบของลูกค้า ไม่ว่าทั้งที่เป็นมือสมัครเล่น หรือมืออาชีพ ซึ่งสร้างความเสียหายได้มากอีกทางหนึ่ง หรือเป็นเหตุทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังดูแลเพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น

 

3. ความเสี่ยงที่จะเกิดต่อบุคลากร ในกรณีที่มีบุคคลอื่นมาทำงานช่วยในกิจการนอกจากตัวเจ้าของหรือผู้ประกอบการเองแล้ว ผู้ประกอบการยังจะต้องเสี่ยงต่อการทุจริต หรือไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของลูกจ้าง ที่จะทำความเสียหายต่อธุรกิจได้ รวมไปถึงความสูญเสียที่เป็นเงินสด

 

การป้องกันความเสี่ยงในกรณีนี้อาจต้องใช้วิธีเก็บเงินค่าประกันการทำงาน หรือวิธีอื่นที่เหมาะสม ความเสี่ยงที่ลูกน้องเก่าจะออกมาทำธุรกิจแข่งกับเรา ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้และอาจมีผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจ ลูกจ้างเก่าที่ทำให้กิจการของเถ้าแก่เดิมเจ๊งไปก็มีตัวอย่างให้เห็นได้เป็นครั้งคราว

 

นอกจากนี้การสูญเสียลูกน้องมือดี ที่ถึงแม้ไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพที่มาแข่งกับเรา เช่น ไปทำนา หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ก็อาจกระทบกระเทือนการดำเนินการของกิจการได้ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมาเป็นตัวแก้ไข

 

ความเสี่ยงที่จะเกิดจากลูกค้า ลูกค้าสมัยใหม่มักจะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิของตนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของการคุ้มครองผู้บริโภค หากสินค้าหรือบริการของเรา ไปทำอันตรายหรือสร้างความเสียหายต่อลูกค้าเราก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นจากการถูกเรียกร้อง หรือฟ้องร้องค่าเสียหาย

 

ในต่างประเทศ หากลูกค้าได้รับบาดเจ็บ เช่น ลื่นหกล้มในร้านของเรา เจ้าของร้านจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในจำนวนที่แทบคาดไม่ถึง กาแฟร้อนลวกมือลูกค้ายังเป็นเหตุให้ยักษ์ใหญ่วงการฟาสต์ฟู้ดต้องเสียเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกค้าไปเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

 

จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงต่อธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่ยืนรอจะเข้าจู่โจมเจ้าของหรือผู้ประกอบการธุรกิจอยู่รอบด้านและตลอดเวลา ผู้ที่รอบคอบและมองการณ์ไกลเท่านั้นที่จะสามารถนำตนเองให้รอดพ้นจากความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ โดยป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก่อน

 

และแน่นอนอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเริ่มใหม่ จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง กับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงนั้นเจ้าของกิจการอาจจะต้องเริ่มคิดที่จะปรึกษากับผู้รู้โดยเฉพาะ หรือบริษัทประกันภัยทางธุรกิจต่างๆ เพื่อเตรียมหาความรู้เพิ่มเติมไว้เป็นเกราะกำบังตนเองเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นการดีจะได้ไม่สายเกินแก้…