บูรพา-อาคเนย์ ตอนอูถิ่นจอ ไม่ได้จบอ๊อกฟอร์ดและไม่เคยเป็นโชเฟอร์ : บัณรส บัวคลี่


ชื่อของ อูถิ่นจอ U Thin Kyaw ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่าปรากฏเป็นข่าวระดับนานาชาติราววันที่ 7-8 มีนาคมเมื่อพรรค NLD ตกลงที่จะเสนอชื่อของเขาขึ้นชิงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารขัดตาทัพแทน อองซานซูจี ซึ่งที่จริงแล้วชื่อนี้ได้หลุดออกมาผ่านสื่อท้องถิ่นพม่ามาก่อนแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์แต่ไม่ฮือฮา สื่อต่างประเทศยังไม่เล่น เพราะอาจจะยังเป็นข่าวที่ไม่ยืนยันก็ตามแต่ จนที่สุดชื่อนี้ก็ชัดเจน…ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้ว

 

อารามที่เขาไม่ได้เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคมาก่อน โปรไฟล์ของอูถิ่นจอจึงค่อนข้างสับสนใจช่วงแรก มีสื่อต่างประเทศพาดหัวว่าซูจีฯ ให้คนขับรถขึ้นเป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิด หรือ Puppet President บางสื่อก็บอกว่าเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดอันโด่งดัง หาใช่คนขับรถธรรมดาไม่ แน่นอนว่าข้อมูลดังกล่าวบนสื่อยักษ์ใหญ่ต่างประเทศย่อมได้รับการแปลเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง

 

จนข่าวดังกล่าวย้อนกลับไปยังพม่า ผู้เกี่ยวข้องถึงได้ทราบว่ามีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังไม่รู้ว่าต้นตอของความผิดพลาดดังกล่าวมันเกิดมาจากไหนอีกต่างหาก

 

ที่แท้อูถิ่นจอไม่เคยมีอาชีพเป็นโชเฟอร์ขับรถ และที่สำคัญเขาก็ไม่ได้จบการศึกษาจากไอวี่ลีกอย่างมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ดแต่อย่างใด

 

เมียนมาร์ไทม์รายงานว่า อู ตุนตุนเฮน  U Tun Tun Hein  โฆษกพรรค NLD ปฏิเสธชัดเจนว่า อูถิ่นจอ ไม่เคยเป็นโชเฟอร์ขับรถให้กับอองซานซูจี แล้วก็ไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ตามที่เป็นข่าวด้วย มันเป็นเรื่องโคมลอยที่ไม่รู้เกิดขึ้นมาจากไหน

 

และนี่คือข้อมูลที่ถูกต้องของเขา :-

 

อูถิ่นจอ เกิดเมื่อ 20 กรกฎาคม 1946 (2489) ปัจจุบันอายุได้ 70 ปี เขาเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับอองซานซูจี โดยอายุของอูถิ่นจออ่อนกว่าซูจีเล็กน้อย ครอบครัวของถิ่นจอ กับ ซูจี เป็นชนชั้นนำในขณะนั้น พ่อของถิ่นจอเป็น กวีนักเขียนซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องสูงในสังคมพม่า ตอนเด็กๆ ถิ่นจอ กับ ซูจี เข้าโรงเรียนเดียวกันคือ Basic Education High School Number 1 แห่งเมืองตะกอง (Dagon Township) พ่อของซูจีถูกสังหาร แล้วเธอก็ไปอยู่ต่างประเทศ แต่แล้วโชคชะตาก็ยังจับผูกให้เพื่อนต่างเพศหนึ่งชาย-หนึ่งหญิงคู่นี้ให้ต้องมีชีวิต/กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันต่อไปอีกเพราะจากนั้นอีกหลายปี ถิ่นจอ กับ ซูจี ก็ยังไปมาหาสู่กันประสาคนพม่าไกลถิ่นอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

เมียนมาร์ไทม์ อ้างข้อมูลทางการของพรรค NLD บอกว่า อูถิ่นจอ จบการศึกษาปริญญาตรีและโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แล้วก็เข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเมื่อปี 1971 (2514) ต่อจากนั้นเขาก็ได้ทุนให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านคอมพิวเตอร์ ที่ University of London Institute of Computer Science (ปัจจุบันเลิกกิจการ) ในจังหวะเดียวกับที่ อองซานซูจี แต่งงานกับไมเคิล อริส และย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนพอดี (ซูจีย้ายไปลอนดอนระหว่าง 2516-2520) นั่นก็เป็นอีกครั้งที่จังหวะชีวิตของอูถิ่นจอได้มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวของอองซานซูจีต่อจากที่เคยเรียนหนังสือด้วยกันเมื่อวัยเยาว์

 

อูถิ่นจอเรียนจบคอมพิวเตอร์ ได้ปริญญาโทอีกใบเมื่อ 1975 (2518)  แล้วก็เดินทางกลับพม่าไปทำงานราชการภายใต้ระบอบเนวิน รับราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเวลา 5 ปี แล้วก็ย้ายไปอยู่แผนกการเศรษฐกิจต่างประเทศ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ เขาเป็นคนที่สนใจขวนขวายด้านการศึกษา ระหว่างนั้นก็สมัครเข้าศึกษาทางไกลทางด้านการบริหารจัดการที่  Arthur D Little School of Management มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น  The Hult International Business School ได้ปริญญามาอีกใบ

 

ปี 1992 (2535) เขาลาออกจากราชการเมื่อวัย 46 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นวัยหนุ่มฉกรรจ์ แล้วก็เข้าร่วมงานในเครือข่ายของอองซานซูจีเต็มตัว ในตำแหน่งผู้อำนวยการ มูลนิธิดอว์ขิ่นจี Daw Khin Kyi Foundation  ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่นำชื่อมารดาของอองซานซูจีมาตั้งเป็นชื่อองค์กร จากนั้นก็ไปร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค NLD ให้กับซูจีพร้อมกันด้วย

 

งานการเมืองของอูถิ่นจอจึงเริ่มขึ้นจากจุดนั้น !

 

อูถิ่นจอ ถือเป็นชนชั้นนำของพม่าอย่างมิต้องสงสัย เกิดมาในครอบครัวที่มีชื่อเสียงฐานะ แถมการศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งซึ่งในยุคนั้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของเอเชียด้วยซ้ำไป นายพลเนวินเข้ามายึดอำนาจเมื่อปี 2505 ตอนที่อูถิ่นจอมีอายุ 16 ปี ช่วงวัยหนุ่มของเขาจนกระทั่งเรียนจบพม่ายังเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทันสมัยและระบบการศึกษาดีมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่ระบอบเนวินและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมก็ทำให้พม่าถดถอยลงอย่างรวดเร็วใน 15 ปีหลังของเนวินซึ่งในเวลานั้น อูถิ่นจอเข้ารับราชการแล้ว เขาทนอยู่ในระบบที่ล้าหลังมาเกือบครึ่งชีวิตแล้วตัดสินใจลาออกมาร่วมกับอองซานซูจีในวัยที่ยังแข็งแรงอยู่

 

จังหวะชีวิตช่วงนี้ของอูถิ่นจอน่าสนใจมาก

 

อองซานซูจีกลับเข้าพม่าและเริ่มบทบาทการเมืองเมื่อปี 1988 (2531) การประท้วงและปราบปรามครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในปีนั้น  พรรค NLD ก็ถือกำเนิดในปีนั้นด้วย ไม่นานซูจีก็ถูกทหารสลอร์คขังบริเวณและมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 NLD ได้รับชัยชนะท่วมท้นแต่ทหารก็ล้มผลการเลือกตั้งทิ้งเสีย กักบริเวณซูจีต่ออีก

 

ความสับสนอลหม่านทางการเมืองในระหว่าง 2531-2534 คงมีผลต่ออูถิ่นจอ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีดีกรีมากกมายพ่วงติดตัวอย่างยิ่ง  การที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำไปสังกัดฝ่ายค้านที่แทบไม่มีอนาคตอะไรในตอนนั้นเพราะหัวหน้าพรรคก็ถูกจับขัง นักศึกษาปัญญาชนถูกปราบปรามจนต้องหนีออกนอกประเทศเป็นพันๆ คน ในสถานการณ์ที่มีแต่เสียกับเสีย แต่อูถิ่นจอก็กระโดดเข้าไป มันเป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นตัวตนของอูถิ่นจอได้ในระดับสำคัญ

 

นี่ก็คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อองซานซูจีวางใจเขา!

 

เหตุผลอีกประการหนึ่ง เขาแต่งงานกับ ซู ซู ลวิน Daw Su Su Lwin  ลูกสาวของ อู ลวิน U Lwin สมาชิกร่วมก่อตั้งพรรค NLD  สถานะทางครอบครัวฝ่ายภรรยา ทำให้เขาเป็นคน “วงใน” ของพรรคมาตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว ยิ่งสนิทสนมกับอองซานซูจีมาตั้งแต่ยังเด็กไปต่อที่เมืองนอกอีก จึงเป็นคำอธิบายได้ไม่ยากว่า เหตุใดอูถิ่นจอจึงตัดสินใจเด็ดขาดเลือกข้างมาตั้งแต่ต้น … ตั้งแต่ NLD ยังเป็นวุ้นภายใต้แรงบีบจากสลอร์คที่เพิ่งปราบปรามใหญ่ใน เหตุการณ์ 8888 ได้ไม่นาน

 

แต่จะอย่างไรก็ตาม … ถึงแม้เขาจะมีดีกรีปริญญาหลายแขนง เป็นนักเรียนนอกที่ผ่านโลกสมัยใหม่ ทำงานในกระทรวงสำคัญของประเทศ เข้าใจระบบราชการและเข้าใจระบบการเมืองดีสักเท่าใด แต่ที่สุดแล้ว อูถิ่นจอ ก็ยังคงเป็นผู้นำขัดตาทัพให้กับ อองซานซูจี อยู่ดี เพราะนี่เป็นเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่หย่อนบัตรเลือกตั้งให้กับ NLD ที่ต้องการให้อองซานซูจี มาเป็นผู้นำ…ไม่ใช่ตัวเขาที่ถนัดงานเบื้องหลัง โลว์โปรไฟล์มาตั้งแต่ต้น

 

สื่อท้องถิ่น เมียนมาร์ไทม์ซึ่งเป็นสื่อแรกๆ ที่ได้ดีดชื่อของ อูถิ่นจอ ขึ้นมาก่อนที่สื่อตะวันตกจะรายงานนานกว่าสัปดาห์ระบุว่าความคิดที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ อองซานซูจี  ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะล้มเหลวในการต่อรองกับฝ่ายทหารในรอบนี้ก็ตาม คาดหมายว่า อองซานซูจี จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปก่อน ซึ่งโดยตำแหน่งนี้นางจะได้เข้าร่วมประชุมในองค์คณะ 11 อรหันต์  สภาป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติ National Defence and Security Council อันเป็นองค์กรที่อำนาจสูงสุดด้านนโยบายของพม่าคล้ายกับโปลิตบุโรของหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะมีตัวแทนแม่ทัพนายกองของฝ่ายทหารและจากตำแหน่งสำคัญฝ่ายบริหารร่วมกัน

 

อีกไม่นานก็จะรู้ว่าข่าวที่รายงานล่วงหน้าตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ของเมียนมาร์ไทม์จะยังแม่นยำเช่นเดียวกับที่ได้ดีดชื่อของ อูถิ่นจอ ขึ้นมาหรือไม่ ?

 

*******************************************

หมายเหตุ – ผู้เขียนได้วิเคราะห์ในเชิงฟันธงไปในบทความเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า อองซานซูจี น่าจะหักด่านเจรจากับทหารพม่า ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้สำเร็จ http://www.smartsme.tv/knowledge-detail1.php?sid=4&gid=20&id=19572 ซึ่งบัดนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแนววิเคราะห์ดังกล่าว ผู้เขียนได้เพียงน้อมรับความผิดพลาด นำเป็นบทเรียนเพื่อนำมาปรับปรุงการรายงานที่มีน้ำหนักเหตุผลและความเป็นไปได้ ในอนาคตต่อไป