วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2567

บูรพา-อาคเนย์ ตอนเซอร์เก้ ปั้น นายทุนหมายเลขหนึ่งแห่งลุ่มน้ำอิระวดี : บัณรส บัวคลี่

by Smart SME, 25 มีนาคม 2559

ไม่ใช่แต่ปฏิรูปการเมืองเท่านั้น เวลานี้พม่ากำลังปฏิรูปเศรษฐกิจมุ่งหน้าสู่โลกทุนเสรีนิยมอย่างรวดเร็ว ผิดหูผิดตา ช่วงท้ายของรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ให้ใบอนุญาตธนาคารต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการจำนวนมาก นี่ไม่ใช่การทิ้งทวน หากแต่เป็นไปตามแผนปฏิรูปที่วางไว้ตั้งแต่ 2011 และไม่ใช่แค่ตลาดเงินเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง ตลาดทุนก็เช่นกัน  

 

พม่าเพิ่งเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา เรียกว่า Yangon Stock Exchange – YSX แต่ยังเป็นอาคารเปล่าๆ เตรียมคน เตรียมความพร้อม โดยกำหนดจะเริ่มซื้อขายกันในวันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นวันแรก และหุ้นตัวแรกที่จะประเดิมตลาดทุนเป็นตัวแรกก็คือ บริษัท First Myanmar Investment – FMI ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุด พร้อมที่สุด เหมาะสมที่สุดที่จะประเดิมการเทรดซื้อขายเป็นปฐมฤกษ์  

 

แล้วก็น่าเชื่อว่า FMI จะเป็นหุ้นชั้นดีสวมวิญญาณกระทิงวิ่งพุ่งๆ เอาฤกษ์เอาชัยได้อย่างแน่นอน นั่นเพราะกิจการของกลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้จัดเข้าข่ายดีหนึ่งประเภทหนึ่ง มีระบบการจัดการทันสมัยไม่น้อยหน้าใคร ที่สำคัญคือฝรั่งและนักลงทุนรู้จักมาก่อนแล้ว มีความน่าเชื่อถือสูง  

 

มหาเศรษฐีเจ้าของ FMI ชื่อว่า เซอร์เก้ ปั้น ( Serge Pun)  ที่จริงเขามีชื่อพม่าด้วยชื่อว่า เทียม เหว Theim Wai เอกสารชี้ชวนต่างๆ ที่เป็นทางการของพม่าจะเขียนชื่อคู่กัน Theim Wai @ Serge Pun แต่ในทางตลาดทุนสากลชื่อ Serge Pun ยังเป็นที่คุ้นเคยมากกว่า  

 

เซอร์เก้ ปั้น สมกับเป็นทุนใหญ่อันดับหนึ่งของพม่า บุคลิกท่าทางความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้ดูคลิปเขาควงลูกชายให้สัมภาษณ์รายการ High Flyers ช่อง Bloomberg Business http://www.bloomberg.com/news/videos/2015-09-25/serge-and-melvyn-pun-a-myanmar-success-story การตอบโต้ด้วยภาษาอังกฤษของเขาคล่องแคล่วแหลมคม ไม่ธรรมดาเลย  

 

หุ้น FMI ที่จะเข้าเทรดเป็นธุรกิจใหญ่ที่ครอบคลุมกิจการสำคัญคือ ธนาคารโยมา Yoma Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แถวหน้าหนึ่งในสามลำดับแรกของพม่า สายการบิน เรียลเอสเตท ที่ปรึกษาลงทุน และกิจการด้านสุขภาพ แต่นั่นก็เป็นแค่ปีกๆ หนึ่งของอาณาจักรธุรกิจของเซอร์เก้ ปั้นเท่านั้น กิจการของเขาอีกปีกหนึ่งคือ Yoma Strategic Holdings- YOMA ซึ่งก็มีทั้งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนขายรถ ท่องเที่ยว ที่ปรึกษาลงทุน ฯลฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ นั่นเป็นเหตุให้เขาได้รับการจัดลำดับโดย Forbes ให้ติดท็อป 50 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ต่อเนื่องกันหลายปี ปีล่าสุด 2015 อยู่ลำดับที่ 45 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 505 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนั่นต้องย้ำว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรธุรกิจของเขาเท่านั้น  

 

ความที่เซอร์เก้ ปั้นบินสูงอยู่ในแถวหน้าของวงการธุรกิจระดับนานาชาติ ประสบความสำเร็จที่นำบริษัทไปจดทะเบียนหุ้นในสิงคโปร์ แถมยังถูกกล่าวถึงจากสื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก ฯลฯ เหล่านี้ คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ FMI ได้รับการเลือกให้เป็นหุ้นอันดับแรกประเดิมตลาด  

 

เซอร์เก้ ปั้นมีเชื้อสายจีน ชื่อจีนของเขาชื่อว่า พ่านจี้เจ๋อ เขาเกิดในพม่าเมื่อพ.ศ. 2496 ปัจจุบันอายุ 63 ปี ชีวิตวัยเด็กเติบโตในสังคมพม่ายุครุ่งเรืองทั้งด้านการเมือง การเศรษฐกิจ การศึกษา อันเป็นช่วงที่พม่าเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ก็เป็นไปได้ไม่นานเพราะนายพลเนวินทำรัฐประหารเมื่อปี 1962-2505 เนวินนั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยม เที่ยวไล่ยึดกิจการค้าขายต่างๆ มาเป็นของรัฐแล้วก็เป็นชาตินิยม คนอินเดีย จีน ที่เป็นเจ้าของกิจการในพม่าอยู่ยาก ในที่สุด เซอร์เก้ ปั้นก็ต้องอพยพไปอยู่เมืองจีนเมื่อปี 2508 เมื่ออายุได้ 12 ปี  

 

ความยากลำบากหล่อหลอมให้เขาสู้ชีวิตและไต่เต้าอย่างมุ่งมั่น ทันทีที่อายุครบ 20 ปีก็เดินทางไปเผชิญโชคสร้างตัวเองที่ฮ่องกง  พ.ศ. 2526 เมื่ออายุได้ 30 ปี เขาตั้งบริษัท Serge Pun & Associates ที่ฮ่องกงทำกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงหลายโครงการ จนปีกเริ่มกล้าขาแข็ง ข้ามทะเลมาเปิดสาขาลงทุนทำ อาคารอับดุลราฮิม เพลส ที่ถนนพระรามสี่ กรุงเทพฯ เมื่อปี 2531 ต่อเนื่องด้วยการไปรับช่วงงานที่เซินเจิ้น ประเทศจีน (2532) และกัวลาลัมเปอร์ (2533)  

 

จะเห็นได้ชัดเจนว่า เซอร์เก้ ปั้น ต่อสู้ด้วยลำแข้ง สะสมทุน ประสบการณ์ มองเห็นโอกาสจากธุรกิจในภูมิภาคนี้มาก่อน  เมื่อสะสมทุนเบื้องต้น ประสบการณ์มากพอแล้ว เขาก็พกพาขนาดของหัวใจของนักบุกเบิกกลับพม่า ดินแดนที่เขาถือกำเนิด  

 

พม่าในปี พ.ศ. 2535 ปีที่เซอร์เก้ ปั้น กลับไปยังพม่า คณะทหารสอร์คได้โค่นบัลลังก์ของนายพลเนวินและเพิ่งปราบปรามใหญ่ในเหตุการณ์ 8888 ได้ไม่นาน จังหวะนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของผู้ปกครองคณะนายพลกลุ่มใหม่ หม่องเอ ตานฉ่วย ขิ่นยุนต์ ฯลฯ  เป็นช่วงเวลาที่พม่าถูกแช่แข็งเอาไว้เป็นทศวรรษ ไม่มีระบบธุรกิจ การค้า การเงินสมัยใหม่ ที่สำคัญระบบเศรษฐกิจมันพังพินาศแทบเป็นจุณด้วยน้ำมือของเนวินไปแล้ว การที่เกิดจลาจลปี 1988 ประชาชนลุกฮือโค่นเนวินลงเป็นผลมาจากปมปะทุเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสำคัญ เซอร์เก้ ปั้น เป็นทุนพม่านอกประเทศที่ตอบโจทย์ให้กับรัฐบาลสลอร์คพอดี เขาตั้งบริษัท First Myanmar Investment Co., Ltd. ขึ้นมาก่อน จากนั้นอีกปีเดียวใบอนุญาตตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ที่เป็นของเอกชน Yoma Bank Ltd. ก็ตามมาในปี พ.ศ.2536 อีกปีถัดมาเขาก็ประกอบธุรกิจยานยนต์ นำเข้ามอเตอร์ไซด์ รถยนต์ และลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์  

 

นับจาก 2535 ถึงบัดนี้ เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เซอร์เก้ ปั้น อยู่ ณ แถวหน้าของวงการธุรกิจเศรษฐกิจพม่า ไม่ใช่แค่การเงินและการค้าหรืออสังหาริมทรัพย์เท่านั้น กิจการของเขาครอบคลุมแทบทุกเซกเมนท์ธุรกิจแม้กระทั่งการเกษตร และการแพทย์สาธารณสุข  หรือกระทั่งบอลลูนชมทิวทัศน์ที่เราคุ้นตากันดีในท่ามกลางฉากบรรยากาศตรึงใจของหมู่พระเจดีย์เมืองพุกาม ก็เป็นหนึ่งในกิจการด้านท่องเที่ยวของเขา  

 

หากถามว่า เซอร์เก้ ปั้น เป็นเครือข่ายผลประโยชน์ของทหารผู้ปกครองเดิมหรือเปล่า? คำตอบก็คือธุรกิจที่เติบโตในระหว่าง 20 ปีมานี้ล้วนแต่ต้องเกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครองของทหารไม่ทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว การที่เขาได้รับใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในยุคสลอร์คมันก็ชัดเจนโดยไม่ต้องอ้างเรื่องอื่น แต่เซอร์เก้ ปั้น ก็ไม่เคยถูกแบล็คลิสต์จากชาติตะวันตกเหมือนนักธุรกิจรายอื่น ทุนธุรกิจที่พึ่งพาอำนาจมักถูกรังเกียจจากทุนเสรีตะวันตกว่าผูกขาด เอาเปรียบ ไม่โปร่งใส และใช้อำนาจรัฐมาหนุนเสริม แต่เซอร์เก้ ปั้นทำในสิ่งตรงข้าม การก้าวออกไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ระดมทุนจากตะวันตก แถมคบหาสื่อของทุนเสรีนิยมอย่างบลูมเบิร์ก มันเป็นสิ่งสะท้อนวิธีคิดและรูปแบบการทำธุรกิจของปั้นซึ่งสอดคล้องกับกระแสทุนเสรีอย่างเห็นได้ชัด  

 

ชนชั้นนำพม่าวางแผนปฏิรูปการเมืองและการเศรษฐกิจเป็นขั้นตอนมานานแล้ว การเลือกตั้งใหญ่และประธานาธิบดีจากพลเรือน จะยังเป็นกระดานหกสำคัญให้กับภาคเศรษฐกิจธุรกิจพร้อมกันไปด้วย ดังจะเห็นจากการให้ใบอนุญาตให้กับธนาคารต่างประเทศจำนวนมาก และการเริ่มต้นพัฒนาตลาดทุนขึ้นมา และนี่คือผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งชนชั้นนำเก่า-ใหม่ ไม่ว่าพรรคทหาร หรือพรรค NLD ล้วนแต่เห็นประโยชน์ที่จะปฏิรูปกิจการด้านนี้ให้เห็นผล  

 

เซอร์เก้ ปั้น หรือ อู เทียม เหว มหาเศรษฐีเชื้อสายจีนผมขาวทั้งศีรษะกับอาณาจักรธุรกิจมหาศาลของเขา เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจพม่า.


Mostview

ย้อนเส้นทาง Texas Chicken แบรนด์ไก่ทอดที่มี KFC เป็นคู่แข่งสำคัญ

เฟซบุ๊ก Texas Chicken Thailand ได้โพสต์ข้อความว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ดีของ Texas Chicken ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เราดีใจที่มีโอกาสได้เสิร์ฟความสุขให้กับทุกท่าน

คำตอบอยู่ที่นี่! เพราะอะไร OR ถึงเลือกปิดกิจการ Texas Chicken

หลังจาก Texas Chicken แบรนด์ไก่ทอดสัญชาติสหรัฐฯ มีอันต้องปิดฉากธุรกิจกว่า 9 ปีในประเทศไทย เหลือไว้แค่เพียงความทรงจำ โดยทุกสาขาจะปิดตัวลงวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้

เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย รู้จัก “DustBoy” รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ครั้งนี้เราขอพาไปรู้จักกับผลงาน “เครือข่ายเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ DustBoy สำหรับระบบเฝ้าระวัง PM2.5 ระดับชุมชน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมาช้านาน

ไขกลยุทธ์ McDonald’s ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ทำตู้สั่งอาหาร สร้างทั้งรายได้-ประสบการณ์ลูกค้า

เมื่อพูดถึงแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง McDonald’s หากมองในแง่มุมของธุรกิจ หลายคนอาจมองว่านี่คือแบรนด์ที่ติดตลาดไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะเมนูอย่างเบอร์เกอร์ ตลอดจนโปรโมชันต่าง ๆ ได้เข้าไปอยู่ในใจ

SmartSME Line