เรื่องเล่า เขย่าราคา Stories Create Value : สุธีรพันธุ์ สักรวัตร


ลอนดอน คือมหานครใหญ่ที่มีมหาเศรษฐีกระจุกตัวรวมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในมหานครแห่งนี้คนทั่วไปเวลาจะซื้ออาหารต้องเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้าเป็นเศรษฐีทั่วไปก็คงต้องซื้อจากร้านที่มีเชฟมิชลินห้าดาว

 

แต่เหล่าบรรดามหาเศรษฐีนั้น แต่ละมื้อมีความพิเศษกว่าคนทั่วไป และต้องสั่งอาหารสุดหรูมาจากซัพพลายเออร์ชั้นนำที่มีความชำนาญในอาหารแต่ละประเภท ซึ่งหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นไม่เพียงแต่คัดสรรอาหารที่ดีที่สุดจากทั่วทุกมุมโลกมาให้บริการ แต่ยังต้องสรรหาเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้อาหารมื้อนั้นๆ มีคุณค่าสมกับราคาที่ต้องจ่าย

 

ธุรกิจ Food Supplier อยู่ในช่วงที่กำลังบูมมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีที่เกิดขึ้นมากมายในกลุ่มประเทศที่เป็นเศรษฐกิจใหม่อย่างจีนและรัสเซีย ชาวต่างชาติกลุ่มต้นๆ ที่เป็นเจ้าของกว่าครึ่งหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์สุดหรูในลอนดอน

 

สำหรับกว่า 100 มหาเศรษฐีของโลกที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงลอนดอน ที่มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 15 ล้านล้านบาท เรื่องเล่าของอาหารแต่ละมื้อย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ แน่นอน

 

คาเวียร์จากวาฬขาวเบลูกาที่พบได้เฉพาะในทะเลอาร์กติก ขนาดกระป๋องหนึ่งปอนด์ (ประมาณครึ่งกิโลกรัม) ราคากระป๋องละ 1 ล้านสองแสนบาท ถูกนำมาเสิร์ฟกลางงานอีเว้นท์ในร้านเพชร เป็นคาเวียร์ชนิดเดียวกับที่ใช้เสิร์ฟให้ Queen of England

 

หอยหลอดจากชายหาดกัลลิเชียนทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปนก็จัดเป็นอาหารหายากอย่างหนึ่ง เพราะการที่จะสามารถเก็บหอยใต้ระดับผิวน้ำที่เกาะตามโขดหินอันแหลมคม มีคลื่นซัดกระแทกอันตรายตลอดเวลานั้น นำพามาซึ่งการเสียชีวิตของชาวประมงเฉลี่ย 5 คนในทุกๆ ปี

 

กาแฟที่ใช้เสิร์ฟบนเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว แก้วละ 15,000 บาท มาจากเกาะสุมาตรา เป็นกาแฟขี้ชะมดชั้นดี ที่เกิดจากการกินและขับถ่ายออกมาจากตัวชะมด ก่อนที่ชาวไร่กาแฟพบว่ากระบวนการย่อยของตัวชะมดทำให้กาแฟมีรสหอมและลดความเป็นกรดของกาแฟลง ทำให้กาแฟยี่ห้อ Kopi Luwak ถือว่าเป็นโรลสรอยซ์ของเหล่าเมล็ดกาแฟเลยทีเดียว

 

นอกจากกาแฟแล้ว อาหารมื้อละ 50,000 บาท บนเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ยังปิดท้ายด้วยไอศกรีมที่ใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติบริสุทธิ์บนยอดเขาในทวีปแอฟริกา นำมาตกผลึกให้เป็นเกล็ดไอศกรีมอันหอมหวานแหล่งชุมนุมของมหาเศรษฐีอย่าง Playboy’s Club ก็เสิร์ฟค็อกเทลที่แพงที่สุดในโลก ราคาแก้วละ 4 แสนกว่าบาท ที่มีส่วนผสมของคอนยัคที่ผลิตในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นคอนยัคของปี 1789 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งปกติขายอยู่ช็อตละ 250,000 บาท และตอนนี้ก็เหลือเพียงเสิร์ฟได้แค่ 5 ช็อตเท่านั้น หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าอย่างปลาแซลมอนที่ถูกเลี้ยงด้วยดนตรีแจ๊สเพื่อให้ปลามีเนื้อที่หวานอร่อยขึ้น

 

สำหรับมื้อหรูสุดแพงเหล่านั้น “ราคา” ที่เกินจินตนาการของตัววัตถุดิบเป็นเรื่องหนึ่ง “มูลค่า” ของประสบการณ์ สถานที่ บรรยากาศสำหรับช่วงเวลาพิเศษก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกเพิ่มเข้าไปในราคาอาหาร แต่ “คุณค่า” ความประทับใจของอาหารแต่ละมื้อและถูกบอกต่อ กลับถูกแฝงอยู่ในเรื่องราวต่างๆ ที่ Food Supplier มือหนึ่งระดับโลกบรรจงร้อยเรียงถ่ายทอดมาสร้างตำนานให้สินค้าของตนนั้น ที่ลูกค้าไม่สามารถปฏิเสธได้ และนี่คือพลังของเรื่องเล่าที่ถูกนำมาใช้ทางการตลาดของมืออาชีพเหล่านั้น

 

ย้อนกลับมาดูในเมืองไทย หลายๆ ครั้งผมพยายามกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้สร้างมูลค่าให้กับสินค้าตัวเอง โดยใช้เรื่องราวหรือ Story จนผมได้มาพบกับเครื่องเงินของ Ake Ake Brand Luxury

 

เรื่องราวของ Ake Ake Brand Luxury น่าสนใจมากครับ จากธุรกิจในครอบครัวที่เป็นผู้รับจ้างผลิตมาตลอด 30 ปี นำเอาภูมิปัญญาช่างฝีมือเครื่องเงินท้องถิ่นชาวเชียงใหม่มาผลิตเป็นสินค้าเครื่องเงินจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวและคนไทยที่นิยมสวมใส่เครื่องเงิน ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและผู้ที่มีรายได้ปานกลาง

 

จนกระทั่งกระแสความนิยมเครื่องเงินในตลาดยุโรปเริ่มมาแรง สมรภูมิการแข่งขันของแบรนด์เครื่องเงินจากเชียงใหม่รายนี้จึงเปลี่ยนไป จากที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเงินให้แบรนด์ใหญ่ๆ ของโลกมาตลอด จึงมองเห็นโอกาสของการสร้างแบรนด์ของตัวเอง แต่แทนที่จะใช้ลวดลายแบบดั้งเดิม Ake Ake Brand Luxury กลับเลือกที่จะใช้เรื่องราวของประวัติศาสตร์อังกฤษในยุคกลางหรือยุค Medieval มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ

 

โดยทำให้แต่ละคอลเลคชั่นเสมือนหนึ่งเป็นนิยายแต่ละบท เป็น Chapter ที่มีความต่อเนื่องกัน สร้างเรื่องราวของอาณาจักรในยุคนั้นที่มีฝ่ายดีและฝ่ายร้าย การต่อสู้ สงคราม การล่มสลายของอาณาจักร และเรื่องราวของเทพต่างๆ โดยใช้ปรัชญาหลักการออกแบบเครื่องเงินโดยการตีความมาจากศิลปะศาสนา และประเพณีในช่วงตอนของนิยายเรื่องนั้นๆ มาเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องเงินเดิมๆ ขึ้นหลายเท่าตัว เกิดการสะสม เสาะแสวงหา หรือแม้กระทั่งหน้าร้านก็ตกแต่งเพื่อสร้างประสบการณ์ของลูกค้าให้เสมือนหลุดเข้าไปในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นๆ

 

เรื่องราว ไม่ได้เพียงแค่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้เราขายได้ราคาสูงขึ้นกับสินค้าตัวเดิมเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร ทั้งเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปริมาณการผลิตที่จะต้องแข่งขันกับรายใหญ่

 

เรื่องราว ยังเป็นเครื่องมือที่เอาไว้ใช้สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าที่มีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก ในกลุ่มสินค้าที่ไม่มีความได้เปรียบกันอย่างชัดเจนจากตัวสินค้าเอง มีคุณภาพ กระบวนการผลิต ทำให้เราสามารถมีดินแดนใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องใช้ราคามาเป็นจุดขายเพียงอย่างเดียว

 

เรื่องราว ทำหน้าที่เปลี่ยนจากสินค้าให้มาเป็นแบรนด์ ทำให้แบรนด์นั้นมีความเชื่อ เป็นความเชื่อที่มีคุณค่า เป็นความเชื่อที่ผู้คนยินดีจ่ายด้วยความเต็มใจ เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้น และพร้อมที่จะบอกต่อ เผยแพร่ออกไป ทำการตลาดแทนเจ้าของสินค้า โดยที่เจ้าของไม่ต้องลงทุนกับเรื่องนี้มากนัก

 

ค่อยๆ หา Story ของธุรกิจของคุณกันนะครับ