หน้าร้อนต้องระวัง 8 โรคนี้ให้ดี!!


หน้าร้อนต้องระวัง 8 โรคนี้ให้ดี!!

 
1. โรคเครียดและโรคซึมเศร้า
 
อากาศร้อนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หงุดหงิดฉุนเฉียว วิธีป้องกันคือหลีกเลี่ยงอากาศร้อน อาบน้ำให้บ่อยขึ้น ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด
 
2. โรคไข้หวัด
 
โรคนี้เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ในช่วงอากาศที่ร้อน ร่างกายสามารถถูกกระตุ้นและรับเอาเชื้อไวรัสเข้าไปง่ายกว่าปกติ ตั้งแต่อาการหวัดธรรมดาจนถึงหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ควรเลี่ยงสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทได้น้อย และควรพักผ่อนให้เพียงพอ
 
3. โรคพิษสุนัขบ้า
 
โรคกลัวน้ำ เกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ามากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผล พบมากในสุนัข แมว ผู้ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใน 15 – 60 วัน ผู้ป่วยจะเสียชีวิตใน 2-7 วัน หลังแสดงอาการ โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หากถูกสัตว์ที่มีพาสุนัขบ้ากัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดและรีบไปพบแพทย์
 
4. โรคอุจจาระร่วง
 
เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เชื้อก่อโรคเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
 
5. อาหารเป็นพิษ
 
จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อในระบบทางเดินอาหารซึ่งพบได้ในช่วงหน้าร้อน สาเหตุสำคัญเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ เชื้อบิด เชื้อสแตปฟีโลคอกคัส และเชื้อบาซิลลัส ซึ่งมักเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทนต่อความร้อนได้ดี พบบ่อยในอาหารประเภทไส้กรอก กุนเชียง ข้าวผัดต่างๆ ถึงแม้ว่าจะพยายามรับประทานอาหารที่สุกร้อนแล้ว
 
6. โรคผิวหนัง
 
กลาก เกลื้อน ผด ผื่นแพ้ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในผู้ที่ไม่รักษาความสะอาด จะมีอาการของผิวหนังและรูขุมขนอักเสบ มีแผลเป็นตุ่มหนอง มีเชื้อราตามจุดอับชื้นต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเล่นน้ำที่ไม่สะอาด จะเกิดโรคเหล่านี้ได้ง่าย จึงควรรักษาความสะอาดร่างกาย รวมทั้งอาบน้ำบ่อยๆ ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป ดูแลผิวหนังไม่ให้เกิดความอับชื้น
 
7. โรคผิวหนังไหม้
 
หากอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน แสงแดดจะทำลายชั้นผิว สีผิวยิ่งขาวมากเท่าไร ผิวยิ่งไหม้เร็วขึ้นเท่านั้น อาการเริ่มแรกได้แก่ผิวแดง ปวดแสบปวดร้อน และ คัน ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดด และสวมเสื้อผ้าป้องกัน
 
8. โรคลมแดดหรือ “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke)
 
เกิดจากร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเป็นเวลานาน ร่วมกับการดื่มน้ำน้อย โรคนี้เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง จัดเป็นความผิดปกติจากความร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด เพราะเส้นเลือดส่วนปลายขยับตัวมากในสภาวะอากาศภายนอกที่ร้อนจัด ทำให้ความดันโลหิตต่ำ สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะได้ ร่วมทั้งการปรับสมดุลความร้อนในร่างกายทำงานบกพร่องไป อุณหภูมิของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษา วิธีการป้องกัน คือ ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำควรเลือกใส่เสื้อผ้าสีอ่อน น้ำหนักเบา เพื่อระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน