บ้านสระโบสถ์ หมู่ 9 ต.สระโบสถ์ อำเภอสระโบสถ์ จ.ลพบุรี มีต้นทุนความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ ศาสตร์พระราชาทำให้ชาวสระโบสถ์เข้าใจและนำไปปฎิบัติตามหนองน้ำจึงเป็นแหล่งน้ำพลิกฟื้นคืนพื้นที่การเกษตรกรพื้นบ้าน มณฑปกลางน้ำสวยวิจิตร วัดสว่างอารมณ์กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสระโบสถ์

ที่มาของชื่อ “อำเภอสระโบสถ์” สมัยก่อนสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอสระโบสถ์ อยู่บริเวณกลางบ้านโคกสำโรง อาคารที่ว่าการเป็นหลังคามุงแฝกสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางระหว่างบ้านสระโบสถ์กับโคกสำโรง และเป็นศูนย์กลางของประชาชนและการคมนาคมสะดวก
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2352 มีราษฎรคนสำคัญคนหนึ่งชื่อ นายติ่ง ไม่ทราบนามสกุล เป็นคหบดีที่ร่ำรวยมีคนนับหน้าถือตามาก ได้ขอแรงราษฎร ให้ย้ายที่ว่าการอำเภอหลังเดิมไปก่อสร้างใหม่เป็นอาคารไม้หลังคามุงแฝก บนบริเวณที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารที่ว่าการอำเภอโคกสำโรงในปัจจุบัน ต่อมาหลวงประสิทธิ์นรกรรม (นายเจียม หงษ์ประภาส) เป็นนายอำเภอคนที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “อำเภอสระโบสถ์” เป็น” อำเภอโคกสำโรง” แต่ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่มากของทั้งโคกสำโรงและห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่อำเภอออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของชาวบ้านไม่ทั่วถึง ปีพ.ศ. 2524 จึงได้มีประกาศจากกระทรวงมหาดไทยให้แบ่งท้องที่หนึ่งในโคกสำโรงออกมาเป็นอีกหนึ่งอำเภอชื่อ อำเภอสระโบสถ์ โดยมีตำบลสระโบสถ์เป็นศูนย์กลางจนถึงปัจจุบันนี้

สระโบสถ์ มีต้นทุนความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ ศาสตร์พระราชาทำให้ชาวสระโบสถ์เข้าใจและนำไปปฎิบัติตามหนองน้ำจึงเป็นแหล่งน้ำพลิกฟื้นคืนพื้นที่การเกษตรกรพื้นบ้าน มณฑปกลางน้ำสวยวิจิตร วัดสว่างอารมณ์กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสระโบสถ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังดำรงชีพตามแบบวิถีชิวิตดั้งเดิม ไม่ได้ปรุงแต่งมากนัก ตลาดร้อยปีสระโบสถ์เป็นยังคงหลงเหลือกลิ่นไอของความชุมชนที่เคยคึกคักในอดีต อาคารบ้านเรือนยังคงสภาพเป็นเรือนไม้ คงถูกใจนักท่องเที่ยวที่ชอบถ่ายภาพไม่น้อย
ด้วยความเคารพและศรัทธา ชาวพุทธเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวต่างถิ่น ก็มักจะไปกราบไหว้สักการะหลวงพ่อประจำหมู่บ้านนั้น ๆ หลวงพ่อยอวัดสระโบสถ์ หรือวัดสว่างอารมณ์ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพและบูชา ได้ออกวัตถุมงคลเป็นเหรียญพุทธมงคล หลากรุ่นเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เช่น เหรียญงานฝังลูกนิมิต ปี พ.ศ. 2522 เป็นเหรียญรมดำสองด้าน

ความเป็นมาของชุมชนบ้านสระโบสถ์ เริ่มต้นมีเมื่อมีรวมกันตั้งถิ่นฐานครั้งแรก เพียง 3-4 หลังคาเรือน ตรงบริเวณต้นมะขามใหญ่ข้างอุโบสถหลังเก่าของวัดสว่างอารมณ์ในปัจจุบัน จึงเริ่มสร้างวัดด้วยการขุดสระน้ำ แล้วเอาดินมาปั้นเป็นก้อนอิฐขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านสระโบสถ์ เพราะมีสระน้ำและอุโบสถอยู่ใกล้กัน
โบสถ์เก่าแก่นี้ มีชื่อว่า “โบสถ์จตุรมุข” หมายถึง โบสถ์สี่มุขทรงพระราชวัง ซึ่งสร้างในสมัยพระอาจารย์โนรีเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ 2513 พระอุโบสถขนาดใหญ่ มีความโดดเด่นด้วยรูปทรงเป็นสี่มุข คล้านพระราชวัง แต่ละมุขจะประดับด้วยปูนปั้นที่มีความประณีต งดงาม ตกแต่งด้วยกระจกเกล็ด แต่ละมุขจะตั้งพระพุทธรูปองค์สูงใหญ่ มุขละ 2 ปาง บานประตูและหน้าต่างไม้สักแกะสลักเป็นเรื่องราวแสดงถึงประวัติของพระพุทธเจ้า โดยช่างฝีมือจากเชียงใหม่

เมื่ออังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน) เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถและตัดลูกนิมิต ณ วัดสว่างอารมณ์ ต.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี ในคราวนั้นได้ทรงปลูกต้นพิกุล ต้นไม้ประจำจังหวัด บริเวณด้านหน้าอุโบสถ และต่อมาในปีพ.ศ. 2545 ได้บูรณะตกแต่งเพิ่มเติม มีการวาดภาพจิตกรรมฝาผนัง รูปต้นศรีมหาโพธิ์ พร้อมด้วยหมู่สัตว์มากมาย เพิ่มความสวยงามมากยิ่งขึ้น

หลังจากชมอุโบสถเก่าที่งดงามแล้ว เชิญไปสักการะหลวงพ่อยอ พระพุทธรูปทรงศักดิ์สิทธิ์องค์จำลอง ประดิษฐานในมณฑปเจดีย์กลางน้ำ ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของนายกบุญเลิศ ต่างสี นายกเทศมนตรี ต.สระโบสถ์ ประวัติความเป็นมาและมีหลักฐานอ้างอิงไว้ว่า เมื่อประมาณ 60 – 70 ปีก่อน ชาวบ้านออกไปจับปลา ณ บริเวณคลองวัดไม้แดง ซึ่งคือหมู่บ้านวังแขมในปัจจุบัน พอยกยอขึ้นมากับพบพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นั่งเหนืออาสนะบัลลังค์ฐานสิงห์ 3 ชั้น ชาวบ้านจึงนำไปถวายให้วัด และขนามนามว่า หลวงพ่อยอ
ไม่ไกลกัน สามารถเดินศาลเจ้าฟ้ากลาโหม หรือศาลตาปู่ ซึ่งชาวบ้านต่างนับถือและศรัทธา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คุ้มครองชาวบ้านให้พ้นจากภัยพิบัติ อยู่สุขสบาย การเซ่นไหว้ก็แบบง่าย ถวายเหล้าขาว หัวหมู ไก่ต้ม หมากพลู บุหรี่ เดินทอดน่องตลาดร้อยปี บ้านสระโบสถ์ ชมวิถีชุมชนที่บ้านผู้ใหญ่

เสน่ห์ของบ้านเรือนไม้เก่าที่ตลาดร้อยปี ร้านค้าและผู้คนอาจจะบางตา หนุ่มสาวอาจย้ายถิ่นฐานไปที่อื่นบ้าง แต่สำหรับคนเก่าแก่ที่ผูกพันกับย่านการค้าสมัยก่อน ยังคงวนเวียนอยู่บริเวณนี้ บริเวณหัวถนนของตลาดร้อยปีนี้ จะพบร้านค้าสองห้องแถวขนาดใหญ่ของลุงดอน เกตุยา ปัจจุบันมีอายุ 77 ปี เป็นคนสระโบสถ์โดยกำเนิด เปิดร้านค้าที่ตลาดสระโบสถ์นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 กว่า 60 ปีมาแล้วคุณลุงยังจำภาพความคึกคักของย่านการค้าในอดีตได้อย่างแม่นยำ อาคารบ้านเรือนไม้สองชั้น ประตูไม้บานเฟี้ยมเรียงกันตลอดทางกว่า 100 ร้านค้า เป็นร้านขายของมากมาย ร้านตัดผม ดัดผม ร้านก๋วยเตี๋ยว ชาวบ้านต่างมาหาซื้อของที่นี่

คุณลุงเริ่มเปิดร้านตัดเสื้อทั้งหญิงชายได้ประมาณ 30 ปีถึงได้เปลี่ยนมาขายของเครื่องใช้ สารพัดชนิด ดอกไม้จันทน์ก็มี เครื่องใช้หนักเบามีเกือบครบ ขายของเครื่องใช้แปลก ๆ มากมาย เราเห็นลุงดอนนั่งตัดกระดาษกระดาษฉัตร เป็นธงลายฉลุอย่างชำนาญ คุณลุงดอนเล่าว่า “ตอนเป็นช่างตัดเสื้อ ก็ไปช่วยงานที่วัดเห็นเค้าตัดกระดาษฉัตรก็เลยเรียนรู้จากที่วัดมา”

ถ้าสนใจอยากเรียนรู้งานคราฟท์กับคุณลุงดอน เกตุยา เพียงอุดหนุนซื้อกระดาษว่าวสี นั่งพับไปมา แล้วตัดกระดาษตามคุณลุงได้เลย แค่นี้คุณก็จะได้ธงลายฉลุกลับไปเป็นของฝาก หรือเป็นของตกแต่งห้องได้ วิถีชาวบ้านแบบคุณคุณลุงเป็นมิตร พร้อมต้อนรับยินดีเล่าเรื่องคุยถึงความเจริญที่สระโบสถ์ในอดีตให้คุณฟังจนเพลิน
- งานฝีมือของกลุ่มชุมชนแก้วนพเก้า

การถักกะเตงหวายเทียมของชาวบ้านสระโบสถ์ คือตะกร้าสานหวายเทียม ฝีมืองดงาม การใช้เลือกสี การใส่ลวดลายเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์จากจินตนาการ ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ทอผ้าเป็นกิจวัตร เป็นการสืบทอดการทอผ้าจากบรรพบุรุษก่อนย้ายรกรากมาจากอีสาน

ลายผ้ามัดหมี่ที่นี่ นิยมให้สีสดสีจัด นิยมนุ่งซิ่นไปงานสำคัญๆ เชิญมาเลือกซื้อผ้าทอพื้นเมือง ฝีมือละเอียดประณีตที่ใช้จิตวิญญาณเรียงร้อยทุกเส้นผ่านกี่กระตุก จนเป็นผ้าพื้นงามเปี่ยมคุณค่าของงานฝีมือ
ชุมชนบ้านสระโบสถ์ มักอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ เป็นครอบครัวขยายที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน มีตายายลุงป้าหน้าอาหลาน ๆ อยู่กันพร้อมหน้าคึกคัก เรื่องอาหารการกินจัดสำรับเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ จึงเป็นเรื่องสำคัญการจัดเตรียมอาหารแห้งเก็บไว้ปรุงอาหารประจำวันจึงเป็นเรื่องถนัดที่สะสมประสบการณ์ถูกถ่ายทอดมาหลายรุ่น มาถึงชุมชนที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร มีของฝากให้เลือกซื้อกลับเป็นของฝากหลากหลาย ของทานเล่นเกรดห้าดาว รับรองไม่ผิดหวัง กากหมูทอด ยาวเกือบฟุต หอมกรอบมัน ขอแนะนำให้ซื้อหลายถุงของใครของมัน หมูแดดเดียว กรรมวิธีการตากสุดคลาสสิคแดดประเทศไทยร้อนจัดแค่แดด 2 แดดก็พอดี นอกจากนั้นยังมี ไข่เค็มสมุนไพร หน่อไม้ดอง ข้าวสารหอมมะลิ พริกแกงแดง ตะกร้าสานใบเก๋ ขนมใส่ไส้ ข้าวแต๋นน้ำแตงโม หรือขนมนางเล็ด ข้าวโปงงาดำ ไส้ถั่ว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ชาวบ้านสระโบสถ์วางขายตามเทศกาลงานต่างๆ และที่ตลาดสดเทศบาลด้วย
- สำรับอาหารถิ่นบ้านสระโบสถ์

“กินข้าวมายัง” เป็นคำทักทายของผู้ใหญ่บ้าน พร้อมยื่นถาดสำรับอาหารมาให้ ถาดเหล็กเคลือบลายดอก มีแกงพื้นบ้านตัดใส่ชามเคลือบสีขาวขอบน้ำเงินก้นลึก เป็นภาชนะเครื่องใช้ที่สมัยก่อนใช้กันประจำทุกบ้าน ปัจจุบันค่อนข้างหายาก กลายเป็นของสะสมที่หลายคนตามหาเชียว ข้าวสวยร้อนๆ ใส่จานเคลือบแบนๆ พร้อมกับช้อนสังกะสีเคลือบสีเขียว ชวนให้ตักแกงมาทานลิ้มลอง
แกงบอนใส่กากหมู แกงกะทิใส่เครื่องแกงเผ็ด เลือกใช้บอนเขียว ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามธรรมชาติริมหนองริมบึง จึงนิยมมานำปรุงอาหารกัน บอนเป็นยาเย็น เส้นใยในบอนช่วยการดูดซับสารก่อกลายพันธุ์ สมุนไพรในแกงบอนมีสรรพคุณมากมา ยอดส้มป่อยช่วยฟอกเลือดขจัดเมือกในลำไส้ที่สมัยใหม่เรียกกันว่าดีทอกซ์ มะเขือพวงลดไขมันและควบคุมน้ำตาลในเลือด
แกงเปรอะใส่หน่อไม้ ที่มีสมุนไพรใบย่านางเป็นพระเอกของแกงชามนี้ ความหอมฉุนจัดของใบย่านางชวนรับประทาน ยิ่งรู้ว่าใบย่านาง จัดเป็นยาอายุวัฒนะของตำรับยาสมุนไพรโบราณ ยิ่งต้องไม่พลาด สรรพคุณในใบย่านางมีมากมาย ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ ช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วรอยอีกด้วย เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคและเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย ใส่หน่อไม้ป่าเนื้อนุ่มๆ ทานแกล้มกับ กากหมูทอด ชิ้นยาวเป็นฟุต กัดกินได้อย่างจุใจ ไม่เคยพบเคยทานกากหมูอร่อยที่สุดในโลก จัดระดับให้เป็นแคบหมูขั้นเทพ กรอบหอมมัน ทานแล้วหยุดได้ยาก อีกเมนูที่ชาวบ้านทำทานกันเป็นประจำ มีติดในตู้กับข้าวเกือบทุกวัน หิวๆ ก็คว้า น้ำพริกเผากากหมู โปะไข่เจียวบนจานข้าวสวยร้อนๆ แกล้มผักสดหรือหน่อไม้ต้มก็เข้ากัน
ชาวบ้านสระโบสถ์ ส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากอีสาน มีวิถีชุมชนดั้งเดิม ที่บ้านผู้ใหญ่ชัชวาล เป็นศูนย์รวมให้ชาวบ้านได้มารวมกันร่วมทำกิจกรรมหลากหลาย ลานโถงใต้ตุนเรือนไม้ยกสูง ใช้เป็นลานอเนกประสงค์เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว มาเรียนรู้งานมาเยี่ยมเยือน เรือนไทยไม้เก่าแก่ บางส่วนอาจปรับปรุงซ่อมแซมไปบ้าง แต่ยังมีให้เห็นฐานโครงสร้างดั้งเดิม อย่างเช่นเสาไม้ ช่องลมไม้ หน้าต่างบานประตูบานเฟี้ยมพับเปิดกว้าง

ที่สะดุดตาและชื่นชมคือภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ ที่แฝงเสน่ห์น่าดึงดูด คือการถนอมอาหารแบบธรรมชาติ กระดงตากหมูแดดเดียวริมหน้าต่าง ใช้ตะขอเกี่ยวรับองศาแสงแดดเต็ม ๆ พื้นกระดานบนบ้านไม้เก่าสวยเป็นมัน ตู้กับข้าวโบราณ ตุ่มเก็บน้ำใบเขียวขนาดใหญ่ยักษ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แสดงถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ควรจะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง

ทุกสิ่งอย่างผ่านกระบวนการความคิดมาจากบรรพบุรุษที่ควรแค่แก่การอนุรักษ์และสืบทอด “ตู้กับข้าว” หนุ่มสาวรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ชุดครัวสมัยใหม่ไม่มีใครดีไซน์เป็นตู้กับข้าวบ้าง สมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็นให้เก็บถนอมอาหาร อากาศก็ไม่ร้อนเกินไป ตู้กับข้าวจึงจำเป็นเป็นที่ที่จะเก็บสำรับกับข้าว หรือ “ตุ่มน้ำ” มีไว้ทำไม ในอดีตชาวบ้านจะรองน้ำฝนไว้ใช้อุปโภคบริโภคน้ำฝนตลอดปี น้ำฝนคือน้ำบริสุทธิ์จากฟ้าให้รสหวานนิดๆ ก่อนกลับเราก็เหลือบไปเห็นกระดาษว่าวฉลุเป็นลวดลายติดประดับที่คานบ้าน

“ชอบเหรอ เอากลับไปเป็นที่ระลึกมั้ย” ผู้ใหญ่ส่งเสียงมา ช่างน่าประทับใจ ความเป็นเจ้าบ้านที่มีแต่รอยยิ้มและความสุขแบ่งปันให้นักท่องเที่ยวคนเมือง ที่ถวิลหาความเป็นชนบทเพื่อมาเติมเต็มให้กับชีวิต