ลาวแง้ว บ้านห้วยขมิ้น จุดเรียนรู้การพึ่งพาตนเองร่วมกับการดูแลธรรมชาติ


บ้านห้วยขมิ้น หมู่ 8 ต.นิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จ.ลพบุรี มีบรรพบุรุษเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของลาวแง้ว ลาวแง้วเป็นกลุ่มคนลาวที่อพยพโยกย้ายมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยลาวมาตั้งถิ่นฐานในไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ประมาณปีพ.ศ. 2322 และเมื่อในรัชสมัย รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างปีพ.ศ. 2369 – 2371 เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ จึงทรงโปรดเกล้าให้ยกทัพไปปราบ 2 ครั้ง เมื่อได้ชัยชนะโปรดเกล้าให้ทำลายอาณาจักรเวียงจันทน์ เพื่อมิให้ตั้งตัวได้อีก แล้วกวาดต้อนผู้คนมาไว้หัวเมืองรอบกรุงเทพ และโปรดเกล้าให้รวมอาณาจักรเวียงจันทน์เข้ากับอาณาจักรสยาม

ชาวลาวแง้วมีอุปนิสัย รักสงบ ซื่อสัตย์ รักความสวยรักงาม และมีความโอบอ้อมอารีและเป็นมิตร การแต่งกายของลาวแง้ว คล้ายกับทางภาคเหนือนุ่งผ้าทอเป็นผ้ามัดหมี่ลายขิดมีเชิง เสื้อผ้าฝ้ายสีพื้น

ประเพณีวัฒนธรรมที่มรดกตกทอดจนถึงทุกวันนี้ มีการการฟ้อนรำลาวแง้ว วัฒนธรรมอาหารคือการทำกระยาสารท ข้าวเหนียวแดงเนื้อนุ่ม แกงบวดราดกะทิ น้ำพริกปลาร้าบองสูตรโบราณ

วัดคูหาสวรรค์ มีนักท่องเที่ยวมากราบไหว้บูชาเกจิอาจารย์ชื่อดัง 2 ท่านคือ หลวงปู่คำมี พุทธสาโร และหลวงพ่อจุฬ อภินันโท แม้ท่านได้มรณภาพ เป็นความอัศจรรย์ที่สังขารของท่านทั้งสองไม่เน่าเปื่อย จึงถูกเก็บรักษาไว้คนกราบไหว้บูชา หลวงปู่คำมี พุทธสาโร ได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2524 สิริรวมอายุ 108 ปี

บริเวณกลางถ้ำได้สร้างมณฑปเล็กๆ ตั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องไว้ ภายในพื้นถ้ำโบกปูนลงหินขัด และสร้างตัวยักษ์ (เทวรูปเก่า) บริเวณทางเข้าถ้ำ

ระหว่างทางขึ้นถ้ำ มีรูปปั้นเทวรูปนารายณ์ปางต่าง ๆ ซึ่งหลวงพ่อจุฬ มักจะปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นพระขรรค์แจกจ่ายให้ญาติโยม และภายในถ้ำมีพระพุทธรูปมากมายประดิษฐาน ภายในอากาศเงียบเย็นทรงมีพลังความขลังอยู่มาก

ปัจจุบันวัตถุบูชา รูปหล่อ หรือเหรียญต่าง ๆ ของเกจิอาจารย์ทั้งสองได้รับความนิยมอย่างมาก หลวงปู่คำมี พุทธสาโรเป็นชาวลาวแง้ว ท่านมีลักษณะพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปคือ ฝ่ามือทั้งสองข้างลวดลายของเส้นมือมีลักษณะเป็นยอดปราสาททั้งสองข้าง ฝ่าเท้าทั้งสองข้างมีลวดลายคล้ายดอกพิกุลกลางฝ่าเท้าทั้งสองข้าง

ระหว่างที่ท่านศึกษาปฏิบัติธรรมและวิชาต่าง ๆ ท่านมีความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องอักขระ คาถา ยันต์ต่าง และท่านยังได้ศึกษาคุณวิเศษและบารมีอัศจรรย์ของสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ที่ประเทศลาวอีกด้วย มีเรื่องเล่าถึงปาฎิหารย์ของหลวงปู่คำมีไว้มากมาย เช่น ร่างไม่เปียกฝน หายตัวได้ เชือกคาดเอว

พื้นที่กว้างใหญ่กว่า 40 ไร่ ของผู้ใหญ่อ้อย พิรัลรัตน์ สุขแพทย์ ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา “คืนป่าสัก” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการร่วมตัวของกลุ่มคนที่ต้องการคืนชีวิตให้กับลุ่มน้ำป่าสัก และตั้งขึ้นเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อสานต่องานของพระองค์ ที่ทรงตรัสว่า “งานของเรายังไม่เสร็จ”

“คืนป่าสัก” คืนความหมายแรกคือ คืนคนกลับบ้าน คืนความหมายที่สองคือคืนป่าไม้ให้ลุ่มน้ำป่าสัก คืนความหมายที่สามคือคืนน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยทำการเปิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคม 2560 เป็นครั้งแรก

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ “คืนป่าสัก” เป็นหลักในการเรียนรู้ เรื่องการพึ่งพาตนเองเข้าใจในธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลง ออกแบบพื้นที่ตามภูมิสังคม ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในรูปแบบ และยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ พื้นที่กว้างใหญ่จัดสรรเป็นหลายส่วน เป็นพื้นที่ของเกษตรอินทรีย์ มีนาข้าว มีโรงปุ๋ยที่มูลสัตว์มาจากหมูป่า มีบึงน้ำ

โดยยึดหลักศาสตร์พระราชา “การจะปลูกป่า (ต้นไม้) ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่างคือไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ และประโยชน์อย่างที่ 4 ได้อนุรักษ์ดินและน้ำ”

หากนักท่องเที่ยวได้มาถึงสามารถเช่าจักรยานชมบริเวณต่าง ๆ และร่วมสนุกกับกิจกรรมมากมาย ที่โรงปุ๋ย มีการสอนทำปุ๋ยแห้งและปุ๋ยน้ำ หรือคนรักสวยรักงาม ก็มาเรียนรู้การทำสบู่สมุนไพร คัดเก็บผักสมุนไพรพื้นบ้านในแปลงเกษตรปลอดสาร มาทำสมุนไพรอบแห้งบรรจุเป็นลูกประคบ

หรือมานอนอบสมุนไพรไทยบนแคร่สูตรโบราณ เรียนรู้ใช้สมุนไพรไทยที่คนไทยมีความผูกพันตั้งแต่เกิด ซึ่งใช้สมุนไพรผสมเกลือ วางใบพลับพลึงนอนอบร้อนด้วยถ่าน หลักการเดียวกับการอยู่ไฟแผนโบราณ หรือจะนวดด้วยน้ำมะพร้าวสกัดเย็น มาหัดทำทองม้วนสูตรโบราณ

หรือทำดองกระชายขาวกับน้ำผึ้ง กระชายขาว จัดเป็น โสมเมืองไทยทีเดียว ดื่มก่อนนอนหรือก่อนอาหาร ช่วยปรับสมดุลในร่างกายได้ดีเยี่ยม มาเรียนรู้การทำไซรับกล้วย มะม่วง มาถึงศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา “คืนป่าสัก” ที่นี่ สนุกอย่างมีคุณค่าเพื่อชีวิต และสุขภาพที่ดี

ชาวบ้านห้วยขมิ้น อยู่กับแปลงนาสวนเกษตรอินทรีย์ที่ได้ผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหลากหลายชนิด เช่น น้ำยาเอนกประสงค์ น้ำมะนาวจากสวนปลอดสาร มาแปรรูปขวดเดียวสามารถนำไปล้างจาน ซักผ้า ถูพื้น รวมถึง สมุนไพรลูกประคบ ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ และทองม้วน เจ๊พูล

ใครที่มาเที่ยว ต้องไม่พลาดเมนูอาหารถิ่น อย่างน้ำพริกสามถ้วย คือ น้ำพริกปลาร้า แจ่วบอง และน้ำพริกเผา ที่เป็นสูตรโบราณของชาวลาวแง้ว ที่สืบทอดสูตรโบราณจากบรรพบุรุษ

ชาวบ้านห้วยขมิ้นต่างมาชุมนุม กวนกระยาสารทกันอย่างสามัคคี กระยาสารทเป็นขนมมงคลสำหรับงานบุญประเพณีในช่วงสารทของไทย คือบุญเดือนสิบ แรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน หากนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสไปร่วมวงกวนกระยาสารทตามประเพณีด้วย ก็ยิ่งเป็นโปรแกรมที่พิเศษสุด

ขนมกระยาสารทเป็นขนมไทยโบราณมีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย คำว่า สารท มีรากศัพท์มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง ระยะปลายฝนต้นหนาว เป็นฤดูกาลผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ ซึ่งเป็นความเชื่อว่าควรนำผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะและขอพรพืชผลของตนเอง

สำหรับไทยเป็นช่วงเวลาที่ระยะข้าวเริ่มออกรวง ชาวบ้านจึงเกี่ยวข้าวที่มีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่ มาคั่วแล้วตำให้เป็นเมล็ดข้าวแบน ๆ เรียกว่า ข้าวเม่า ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการทำขนมกระยาสารท

ข้าวตอก แบะแซ ถั่วลิสง งาขาวคั่ว เป็นขนมธัญพืชที่อร่อยจนหยุดไม่ได้ ความอร่อยหอมหวานอยู่ที่การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว และกะทิให้ละลายเข้าที่ แล้วจึงใส่แบะแซ เคี่ยวขนเหนียวเป็นยางมะตูม ซึ่งขั้นตอนการเคี่ยวเป็นการร่วมกันทำอย่างสนุกสนาน ใช้ไม้พายขนาดใหญ่ ต้องออกแรงเยอะ เพราะการทำขนมกระยาสารทแต่ละครั้งทำจำนวนมาก กระทะก็ใช้ขนาดใหญ่ ใช้กำลังคนถึง 3 – 4 คน แล้วใช้เตาถ่านเท่านั้น จากนั้นก็ใส่ถั่วลิสง คลุกเคล้าต่อให้เป็นเนื้อเดียว แล้วใส่ข้าวตอก ข้าวเม่า งาขาวที่คั่วหอมแล้ว เคี่ยวคลุกเคล้าให้เข้ากัน ซึ่งเป็นช่วงที่เตาถ่านไฟอ่อน ความหอมเริ่มส่งกลิ่นฟุ้งชวนรับประทาน ที่บ้านห้วยขมิ้นหากมีนักท่องเที่ยวสนใจร่วมวงกวนกระยาสารท นอกเทศกาลก็จัดกิจกรรมนี้ให้เป็นสีสันพิเศษ พร้อมตักใสถ้วยพิมพ์น่ารัก บริการให้ทานเป็นของว่างด้วย