บ้านชอนอุดม วิถีเกษตรไทยพวน ที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาพลิกฟื้นแผ่นดินเกิด


บ้านชอนอุดม หมู่ 10 ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ราบลุ่มและที่ดอน ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากหลายแห่ง เช่น ไทยพวน อพยพมาจากตำบลบางกะพี้ อำเภอบ้านหมี่ ลาวโซ่ง อพยพมาจากอำเภอเมืองลพบุรี ชาวไทยหลายกลุ่มอพยพมาจากจังหวัดอ่างทอง แต่เมื่อมาตั้งรกรากเป็นชาวบ้านที่นี่ ทุกคนกลายเป็นคนเกาะแก้ว

คุณสีษภา เลี้ยงหมูเป็นรุ่น รุ่นละ 30 ตัว เมื่อโตได้ 4 เดือนก็ขายเป็นหมูเนื้อเป็นตัว “การเลี้ยงหมูเหมือนเป็นการออมเงิน 4 เดือนเราขายที ก็ได้เงินก้อนเป็นแสน”

คนที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะที่หมู่บ้านชอนอุดม ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน “โครงการ 9109 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี”

คำว่า…9101 (เก้าหนึ่งศูนย์หนึ่ง) มาจาก…9 คือ รัชกาลที่ 9…10 คือ รัชกาลที่ 10 คือในหลวงรัชกาลปัจจุบัน และ 1 ก็คือ ปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหลักการสำคัญคือ น้อมนำหลักการทฤษฎีและแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้มาปฏิบัติ และการดำเนินโครงการยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง ซึ่งชาวบ้านชอนอุดมมีพื้นฐานทำการเกษตร จึงพร้อมใจร่วมมือสามัคคีดำเนินตามรอยเท้าพ่อ

สำหรับคนรักสุขภาพใส่ใจเรื่องการเกษตรปลอดสาร ต้องแวะไปคุยกับคุณมนู คงด่าน ที่หมู่บ้านชอนอุดม ซึ่งทำเกษตรกรรมหลากหลายแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ คุณมนู คงด่าน พร้อมยินดีพาทัวร์ชม “สวนเกษตรหนึ่งไร่ หนึ่งความสุข” คุณมนูขยายความให้ฟังว่า “ความสุขของเราคือการได้ทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว พ่อแม่ลูก มีสุขภาพดี ทานพืชผักที่ปลอดสารพิษด้วย”

สวนเกษตรที่นี่ปลูกพืชผักหลากหลาย เช่นผักหวานป่า ตะไคร้ ดอกขจร มะนาวในวงซีเมนต์ ปลูกต้นกล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม

ผลผลิตส่วนใหญ่จะนำส่งขายตลาดออร์กานิค ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก “เพราะชุมชนเราได้รวมตัวแบ่งปัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกัน พัฒนาตามปรัชญา เพื่อทำให้การเกษตรของเราหยั่งยืน และมั่งคั่งได้ไม่ยากเลย”

 วิถีชุมชนชาวบ้านชอนอุดมผูกพันกับการเกษตรปลอดสาร ทำให้ลุงสิงหา ฮวดจำปา แกนนำของ “ศูนย์เรียนรู้บ้านชอนอุดมและขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” น้อมรับนำปรัชญามาพลิกฟื้นผืนแผ่นดินหมู่บ้านชอนอุดม ปัจจุบันได้เป็นวิทยากรจิตอาสา อบรมถ่ายทอดให้เกษตรกรตำบลให้มีความรู้ความเข้าใจและปรัชญานี้และสามารถลงปฏิบัติจริงได้

การทำน้ำส้มควันไม้ ของคุณสิงหา ฮวดจำปา เป็นหนึ่งในครอบครัวแกนนำของหมู่บ้าน ได้เรียนรู้ดูงานศาสตร์พระราชา ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดต้นทุน สร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งเริ่มศึกษาการทำน้ำส้มควันไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จากปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งได้คิดนำควันที่ได้จากการเผาไม้มาใช้เป็นประโยชน์ คือช่วงที่ควันขาวพวยพุ่งในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน เมื่อทำให้เย็นลงจนควบแน่น ก็เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เป็นของเหลวสีคล้ำเหนียว เรียกว่า “น้ำส้มควันไม้” กลิ่นไหม้ของกำมะถันอยู่มาก เป็นกรดอะซิติก มีความเป็นกรดต่ำ สีน้ำตาลแกมแดง ประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ ไปใช้กำจัดศัตรูพืช แมลงในพืชไร่พืชสวน และทุ่งนาได้ ตอนนี้ชาวนาชาวไร่เข้าใจเรื่องศาสตร์พระราชา ไม่มีใครอยากกลับไปใช้สารเคมีแล้ว

เตาถ่าน ของลุงอัดก็เช่นกัน ลุงอัดสร้างเตาถ่านประสิทธิภาพสูง ทำให้ใช้ถ่านน้อย เลือกดินพิเศษนวดดินด้วยการย่ำด้วยเท้าเพื่อเนื้อดินหนาแน่น ลุงอัดทำเตาถ่านมานานกว่า 20 ปี

ซึ่งการเผาไม้ฟืน 100 กิโล จะได้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 5 ลิตร ใช้เวลาประมาณ 1 วัน ถ้าได้ไม้แห้งสนิทก็ 5- 6 ชั่วโมงก็ได้แล้ว ขายลิตรละ 500 บาท มีคนมาซื้อตลอด

การกลับคืนสู่ผืนดินบ้านเกิด คือความสุขที่ใคร ๆ ใฝ่ถึง คุณสีษภา คงด่าน พร้อมแบ่งปันแชร์ประสบการณ์จากการเริ่มต้นเมื่อ 6 ปีก่อน เรียนรู้ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ พื้นที่กว่า 39 ไร่ ได้จัดสรรทำการเกษตรผสมผสาน พื้นที่ 5 ไร่ ปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน เพื่อเก็บเกี่ยวต้นสดส่งเป็นวัตถุดิบ ให้กับเพื่อนบ้านซึ่งจะนำไปอบแห้งด้วยพลังแสงอาทิตย์ เตรียมส่งขายอีกที “ปลูกกล้วย ทำสวนมะนาว สวนผักหวานอีก 1 ไร่”

มะนาวแป้นพันธุ์พิจิตรลูกใหญ่เปลือกหนา ช่วงได้ราคาดี จะขายส่งได้ลูกละ 3 บาท หากราคาตกก็ทำน้ำมะนาว ส่วนเปลือกนำมาหมักทำน้ำยาอเนกประสงค์ไร้สารเคมี ล้างจานขจัดคราบมันได้ดีเยี่ยม หรือคั้นน้ำมะนาวสดบรรจุขวดขายเพียงขวดละ 10 บาท ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแนวศึกษาดูงานเข้ามาเยี่ยมชมบ่อย ๆ ก็สามารถมาดื่มน้ำมะนาวออร์แกนิกได้ที่สวน

หากได้มาเยี่ยมชมดูงานเรียนรู้ที่บ้านชอนอุดม ต้องไม่พลาดมาชิมทานอาหารถิ่น วัตถุดิบปลอดสารจากฟาร์มเกษตรปลอดสาร 100% ไม่ว่าจะเป็นแกงหยวกกล้วย แกงขี้เหล็ก น้ำพริกหม้อ น้ำพริกหนุ่ม ข้าวโพด กล้วยบวชชี และข้าวโพดพล่า