บ้านสำโรงใหญ่ หมู่ 10 ต.หินปัก อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพวน หรือชาวลาวพวน ที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยลาว ตั้งแต่สมัยกรุงธนบรีตอนปลาย – ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวพวนที่มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอบ้านหมี่นี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในลพบุรี
มีประเพณีกำฟ้า การละเล่นนางกวัก มักจะเล่นในประเพณีงานกำฟ้า เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวนถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสักการะบูชาฟ้า ชาวนาจึง นับถือฟ้าฝนตามธรรมชาติ เพราะชาวพวนมีอาชีพด้านการเกษตร การทำนา ซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงมีความเกรงกลัวต่อฟ้า เชื่อว่าถ้าผีฟ้าโกรธจะทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือฟ้าผ่าทำให้คนตายได้
บ้านป้าน้อย วนิดา รักพรม ประธานกลุ่มสตรีอาสาบ้านพวน มีการรวมกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้านหลายสิบครัวเรือนเพื่อทอผ้ามัดหมี่ บางบ้านก็จะมัดหมี่และย้อมผ้า บางบ้านทอผ้ากี่กระตุก และนำมาส่งขายที่บ้านป้าน้อย ซึ่งเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ผ้าทอมัดหมี่ลายโบราณอย่างจริงจังมากว่า 17 ปี
พิพิธภัณฑ์ลายผ้า ศูนย์การเรียนรู้ทอผ้า ได้แปรสภาพจากยุ้งข้าวเก่าเกือบ 60 ปี มาจัดแสดงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการทอผ้าลายโบราณ เช่น ผ้าขิดหัวนาค เป็นผ้ามัดหมี่เก่าแก่เกินกว่า 100 ปี ผ้าลายนกยูงรำแพน ลายรักษ์ลพบุรี ความภาคภูมิใจและเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของป้าน้อย ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาว โดยออกแบบสร้างสรรค์ 5 สัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี เป็นลายผ้ามัดหมี่ในผืนเดียว คือมีลายดอกทานตะวัน ลายพระปรางค์สามยอด ลายประตูวัง และลายหม่าตุ้ม ผสมผสานกลมกลืนเสมือนเป็นลายเดียวกันได้อย่างงดงามวิจิตร
การทำลวดลายมัดหมี่ของบรรพบุรุษชาวไทยพวน ที่เรียกว่า “ดอกหมี่” นั้น เป็นลวดลายที่มีความละเอียดประณีตมาก จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 50 ปีของป้าน้อย รวมกับความรักและผูกพันในผ้ามัดหมี่โบราณ ทำให้มีพลังสร้างสรรค์ที่จะอนุรักษ์ลายผ้าโบราณอย่างแท้จริง ป้าน้อยจึงได้รังสรรค์ ผ้ามัดหมี่ร้อยลายไว้ในผืนเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในประเทศเท่านั้น
ผ้ามัดหมี่ร้อยลาย เป็นงานออกแบบที่ใช้จินตนาการสูง เลือกสรรลายโบราณที่มีความละเอียดประณีตมาก อย่างลายหม่าตุ้ม เป็นลวดลายที่เกิดจากการมัดหมี่เริ่มที่ 5 ลำ การมัดหมี่เหมือนกับลูกตุ้ม ลายหมี่ขอ ก็เป็นลายที่เกิดจากการมัดหมี่ตั้งแต่ 5 ลำ 9 ลำ 17 ลำ 25 ลำ เป็นลายที่ต้องใช้เวลานานพิถีพิถันในการมัดหมี่มาก ผสมผสานกับหลายต่าง ๆ นานามากมาย เช่น ลายปลาซิวปลาสร้าย ลายเอื้อ ลายบัวศรี
ภาพประเพณีกำฟ้า การละเล่นนางกวัก จัดทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เช้าเข้าวัดทำบุญข้าวจี่ ทำพิธีสู่ขวัญช้าว ต้อนรับญาติพี่น้อง และมีการละเล่นพื้นบ้าน นางกวัก และมีการฟ้อนรำพวน กันอย่างสนุกสนานด้วย
การยกยอจับปลาในคูคลอง คือวิถีชุมชนบ้านหินปัก ที่เรียบง่ายซึ่งอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ตามคำโบราณที่กล่าวถึง ยามเย็นสาวๆ ไปยกยอที่ริมคลองไม้เสียบ ได้ปลาซิวปลาสร้อย มาหุงหาอาหารไม่ต้องไปตลาดซื้อหา ถ้าเป็นหน้าฝนจะได้ปลามากที่สุด
ตำแหน่งที่ตั้งยอส่วนใหญ่จะเป็นโค้งน้ำ ซึ่งน้ำจะตีกลับปลาจะอออยู่บริเวณนั้น ยอจึงเป็นเครื่องมือหาปลาแบบธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาชุมชนที่สืบทอดกันมา
สำรับอาหารไทยพวน ได้แก่ ปลาส้มฟัก หมี่ แกงจานน้ำเสอ หรือแกงหน่อไม้ดองน้ำ ยำผักกิ่งเดอ หรือยำตะไคร้
แจ่วหม่าเผ็ดดิบ เป็นน้ำพริกถ้วยโปรดทานกันทุกมื้อ ความหอมจากย่างเผาด้วยเตาถ่าน พริก หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศ เติมน้ำปลาร้าคือสูตรลับของน้ำพริกถ้วยนี้ ปลาร้าของไทยพวนหมักกันข้ามปี เป็นมรดกสำรับอาหารจากบรรพบุรุษไทยพวนแท้
ขนมดาดกระทะ เป็นอาหารว่างที่ใช้แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ผสมกะทิ ใส่เนื้อมะพร้าวอ่อน นำไปปิ้งย่างในกระทะแบนใหญ่
ข้าวจี่ ข้าวเหนียวนึ่งทาเกลือย่างปั้นเป็นก้อนเสียบไม้ไผ่ ชุบไข่ ย่างไฟอ่อน เป็นเมนูสำคัญคู่ประเพณีกำฟ้า