“หมู่บ้านแห่งวัฒนธรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือคำขวัญของชาวบ้านโคกเจริญ หมู่ 4 ต.โคกเจริญ อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี ชุมชนส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากแถบอีสาน จึงทำให้มีความรู้ความสามารถด้านการทอผ้าติดตัวใช้เองในแต่ละครัวเรือน
ชาวโคกเจริญส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำอาชีพหลัก ทำนา ไร่อ้อย ไร่มัน มารวมกลุ่มทอผ้าที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ของครูวินัย ปัจฉิม และพัฒนาสร้างสรรค์เป็นลวดลายใหม่ๆที่วิจิตรงดงาม
มีวลีกล่าวไว้ว่า “สุภาพบุรุษมัดหมี่ สุภาพสตรีทอผ้า เด็กๆ ปั่นหลา คนชราเลี้ยงไหม” สมาชิกครอบครัวทุกคนสามารถทำงานร่วมกัน สามีมัดหมี่ ไปให้ภรรยาทอ ภรรยาทำเสร็จแล้วก็ต้องส่งให้ลูกปั่นหลา ส่วนคนชราที่มักจะคิดว่าตัวเองเป็นปัญหาของสังคม ถูกลูกๆ ทอดทิ้งไม่มีรายได้ เมื่อคนชรามีรายได้ของตัวเอง เขาก็จะอยู่ในครอบครัวอย่างมีความสุข
ผ้ามัดหมี่ชื่อลาย “หลุยส์” (ลายดอกทานตะวัน) เป็นลายที่ครูวินัยออกแบบและผลิตขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของงานทุ่งทานตะวันบาน จังหวัดลพบุรี การมัดลายที่มีลักษณะพิเศษเป็นวงกลม ดอกไม้มีกลีบเป็นแฉกรอบทิศทาง ครูวินัยได้ใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์การคิดคำนวณและเทคนิคการย้อมสีที่ค่อนข้างเหมือนจริงให้เหมือนสีแต้มหรือระบายเหมือนภาพวาด เป็นลวดลายง่ายๆ ดูแล้วสบายตา
โดยได้แนวความคิดจากงานจิตรกรรมและประติมากรรมทางยุโรปในยุคในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์
ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ก่อตั้งโดย ครูวินัย ปัจฉิม ปราชญ์แห่งการทอผ้ามัดหมี่ประจำตำบล
ครูวินัย ปัจฉิม จากคุณครูศิลปะ กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ด้านการทอผ้า และได้รับเกียรติจาก สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมนวัตกรรมลายผ้าไทย และนี่คือ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ จากความพยายามในการต่อยอดองค์ความรู้ด้าน การทอผ้าในหลากหลายมิติ
ครูวินัย นอกจากเชี่ยวชาญด้านศิลปะแล้ว ยังได้คิดค้นนำนวัตกรรมใหม่ มาปรับใช้กับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้สืบทอดมา โดยใช้ศิลปะนำทฤษฎี เน้นเรื่องสีในการย้อมผ้าให้คุมโทนสีผ้าให้ดูนุ่มนวลขึ้น ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นและสามารถขายได้ในราคาสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ
นอกจากนั้นครูวินัยยังพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น การค้นด้าย จากเดิมที่เราจะใช้มือก็เปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว รวมถึงการคิดค้นลวดลายของผ้าซึ่งเดิมจะไม่ละเอียดนักใช้เพียง 7 ลำ เราก็ได้พัฒนามา ใช้เป็น 25 ลำ และต้องขยายโครงค้นหมี่ ให้มีจำนวนลำมากขึ้น เพื่อรองรับการมัด หมี่ลายผ้า ซึ่งจะทำให้เราได้ผ้าที่ยาวขึ้นกว่าเดิม
จากความสำเร็จในการคิดค้น และผลตอบรับที่ดีเกินคาดในเชิงพาณิชย์
ครูวินัยบอกว่า “ลวดลายที่ผมชอบมากที่สุดก็คือลายราตรีวังนารายณ์ เป็นลายสถาปัตยกรรมของจังหวัดลพบุรี คือมีลวดลายของปรางค์สามยอดและวังพระนารายณ์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี ผ้าผืนนี้มีลวดลายละเอียดมาก เพราะฉะนั้นการทำจะต้องใช้หมี่หลายร้อยลำ ผมจึงคิดค้นประดิษฐ์โครงมัดหมี่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโครงมัดหมี่ที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยทำมา
ครูวินัย ได้เล็งเห็นศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการ “ภูมิปัญญากับการพัฒนางานอาชีพเรื่องนวัตกรรมตำนานผ้าภูมิปัญญาโคกเจริญ” เพื่อพัฒนาทักษะของเด็กนักเรียนให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพทอผ้า ซึ่งสามารถบูรณาการการเรียนรู้ในวิชาได้ทั้งหมด ตั้งแต่วิชาประวัติศาสตร์ผ่านการเรียนรู้ตำนานผ้าจากยุคโบราณถึงปัจจุบัน วิชาคณิตศาสตร์ ในเรื่องของการคำนวณและออกแบบเส้นและลายไหม วิชาศิลปะศาสตร์การออกแบบสีสันและลวดลาย หรือวิทยาศาสตร์ในเรื่องของการผสมสีต่าง ๆ เพื่อให้ได้สีสันบนผืนผ้า
ทุกขั้นตอนการเตรียมการผลิต ได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้สืบทอดสู่รุ่นต่อไป หมู่บ้านหัตกรรมดีเด่น รางวัล “หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร” โทร. 089 905 9332
หากใครกำลังหาผ้าทอมัดหมี่ ลวดลายวิจิตรและแตกต่าง ลองแวะไปเลือกชมได้ที่ “ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น รางวัลหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร” หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ในพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ผู้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่อง
ซึ่งร้านหัตถกรรมผ้ามัดหมี่ ที่หมู่ 4 บ้านโคกเจริญนี้ เสมือนเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าผ้าทอทุกชิ้นของที่นี่เป็นหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ร้านหัตถกรรมผ้าทอมัดหมี่ รางวัลหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร โทร. 086 009 8983
ใครที่มาถิ่นโคกเจริญชุมชนอีสาน ต้องมาลองชิมเมนูจานเด็ดหาทานได้ยาก อย่างลาบหมาน้อย การนำเอาใบหมาน้อย เป็นใบไม้สมุนไพรคล้ายกับใบย่านาง เป็นพืชฤทธิ์เย็น ช่วยแก้ร้อนในมาคั้นเอาน้ำสีเขียวจัด แล้วปรุงด้วยเนื้อปลา เครื่องลาบต่างๆ