ภาษีที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 17)


ภาษีมูลค่าเพิ่ม กับ การประกอบธุรกิจ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการขายสินค้าและการให้บริการ โดยเรียกเก็บจากผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ หรือผู้นำเข้า ซึ่งคำว่ามูลค่าเพิ่มนั้นหมายถึง มูลค่าที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ได้บวกเพิ่มเข้าไปในต้นทุนสินค้าหรือบริการเพื่อกำหนดเป็นราคาขายสินค้าหรือราคาค่าบริการ และในส่วนของการนำเข้าสินค้า การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายกำหนดให้ผู้นำเข้าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีโดยใช้ฐานในการคำนวณภาษีตามมูลค่าของสินค้า รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร หรือที่เรียกว่า ราคา C.I.F (Cost Insurance Freight) และยังต้องรวมกับอากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมพิเศษ (ถ้ามี) และถ้าสินค้านั้นต้องเสียภาษีสรรพสามิต ก็จะต้องรวมภาษีสรรพสามิตเข้าไปด้วย ภาษีที่ชำระนี้ก็จะถือเป็นภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการนำเข้ามีสิทธินำมาหักจากภาษีขายได้

ภาษีที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเสีย คือ ภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ โดยความหมายของภาษีขาย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการซึ่งต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อได้ขายสินค้าหรือได้ให้การบริการ และภาษีซื้อ หมายความว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการซึ่งต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จ่ายให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตน โดยภาษีซื้อนี้ รวมถึงภาษีซื้อของสินค้าประเภททุน ซึ่งได้แก่ เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ซื้อมาใช้ในการผลิตหรือให้บริการด้วย

สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้

1. อัตราร้อยละ 10.0 โดยปัจจุบันมีพระราชกฤษฎีกาลดอัตราลงเหลือร้อยละ 7.0 (รวมภาษีท้องถิ่นด้วยแล้ว) สำหรับผู้ประกอบการที่มีรายรับเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ส่วนผู้ประกอบการที่มีรายรับต่ำกว่านี้ไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้ามีความประสงค์จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเข้ามาอยู่ในวงจรภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งสามารถหักภาษีซื้อได้ ก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้

2. อัตราร้อยละ 0 สำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการอันควรได้รับยกเว้นภาษี เช่น การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร การนำสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากร และ การขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร เพื่อให้กิจการอยู่ในระบบของภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ใช้วิธียกเว้นภาษี แต่ใช้วิธีกำหนดอัตราภาษีที่ต้องเสียเป็นอัตรา 0 คือไม่ต้องเสียภาษี แต่มีสิทธิได้รับภาษีซื้อทั้งหมดคืนหรือนำไปหักจากภาษีขายได้ วิธีนี้จะดีกว่าการได้รับยกเว้นภาษีซึ่งไม่สามารถนำภาษีซื้อมาใช้หักจากภาษีขายได้

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]