รู้หรือไม่? ผู้ป่วย “โรคลมชัก” หมดสิทธิ์ทำใบขับขี่


การทำใบอนุญาตหรือต่ออายุขับรถยนต์ ผู้ขอรับสิทธิ์นั้นจะต้องมีใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นคนที่มีร่างกายปกติ ไม่มีโรคต้องห้ามแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีโรคอยู่โรคหนึ่งที่ใครป่วยแล้วจะไม่สามารถขอใบอนุญาตได้ คือ “โรคลมชัก”

โดยกรมขนส่งทางบกมีการเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบใบรับรองแพทย์จากผู้ขอรับสิทธิ์ตามมติคณะกรรมการแพทยสภา เพิ่มโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตขับรถได้

สำหรับการระบุว่า “โรคลมชัก” ไม่สามารถมีใบขับขี่ได้นั้นก็เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยในปี 2560 คณะกรรมการแพทยสภามีมติให้ “โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้” เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถ เว้นแต่แพทย์ผู้ให้การรักษารับรองว่าผู้ป่วยไม่มีการชักเกินกว่า 2 ปี โดยกรมขนส่งทางบกได้กำชับให้นายทะเบียนทั่วประเทศเข้มงวดในการตรวจสอบใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบตามมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง ไม่ว่าจะเป็น การไม่ปรากฏอาการติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ปรากฏอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่ปรากฏอาการ และอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการ วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ

ทั้งนี้ กรมขนส่งทางบกและแพทยสภากำลังหารือร่วมกัน ที่จะประกาศโรคเพิ่มเติมในอนาคต เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจ เหล่านี้แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ

ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์