ข้อตกลง ว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน


เพราะชีวิตคู่ ไม่ใช่เพียงแค่การอยู่ด้วยกันแค่วันสองวัน แต่มันหมายถึงการอยู่และดูแลกันทั้งชีวิต

ในยุคที่ชีวิตต้องขับเคลื่อน และดำเนินไป หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตอย่าง “เงิน” แม้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคู่รัก แต่หากขาดการวางแผนและการจัดการด้านการเงินที่ดีพอ อาจจะเป็นชนวนบางๆ ที่นำให้ชีวิตคู่ก้าวสู่ความบาดหมาง ทะเลาะเบาะแว้ง และบั่นทอนความรู้สึกที่ดี จนทำให้ทุกอย่างต้องพังทลาย

Smart Sme ขอเกาะกระแสเรื่องความรักสักเล็กน้อย โดยการสะท้อนอีกมุมมองหนึ่งในการจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ เพื่อประคองให้ชีวิตรักของคุณยืนยาว ยั่งยืน มาฝากกัน

เปิดเผย โปร่งใส

สำหรับคู่รัก อาจเป็นวาระของการตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในอนาคตอย่างแน่นอนแล้ว สิ่งแรกที่ควรคุยกันอย่างเปิดอก คือสถานะทางการเงิน (และหนี้สิน) รวมทั้งแบบแผนการใช้จ่ายของแต่ละคน แล้วคิดด้วยกันต่อไปว่า สองเราจะมีแนวทางการใช้ชีวิตทางการเงินร่วมกันอย่างไรดี อะไรพอจะยอมรับกันได้ อะไรบ้างที่ต้องปรับตัว

ว่าด้วย “การแต่งงาน”

คุยกันเลยว่าความต้องการหรือความจำเป็นในการแต่งงานของเราเป็นอย่างไร จะแค่จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรส หรือไม่ต้องก็ได้ ซึ่งทั้งคู่ต้องหาความรู้เรื่องข้อผูกพันทางกฎหมายก่อนตัดสินใจ หรือถ้าจัดงานแต่งจะเป็นงานไซส์ไหน งานใหญ่ปิดตลาด มีชิงช้าสวรรค์ ประชันนักร้อง 15 วง หรือแค่ชวนเพื่อนมากินข้าวแค่ไม่กี่คน แล้วงบประมาณจะอยู่ที่เท่าใด ต้องเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้เวลาในการเก็บออมเงิน เป็นไปได้ว่าอาจใช้วิธีการเปิดบัญชีร่วม แล้วตกลงกันว่าในแต่ละเดือนแต่ละงวด แต่ละคนจะนำเงินมาใส่บัญชีจำนวนเท่าใด รวมทั้งมีส่วนเงินสำรองเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายที่พร้อมจะบานปลายได้เสมอ ในส่วนนี้อาจถึงขั้นต้องทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ทั้งเรื่องวิธีการ จำนวนเงิน และระยะเวลา

แผนการเงินระยะยาว

จะตั้งครัวเรือนกันแล้ว จะบริหารเงินกันอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องคิดต้องตัดสินใจล่วงหน้า ถ้าไม่อยากมีปัญหาควรคุยกันเสียแต่เนิ่นๆ เรื่องที่อยู่อาศัยจะเป็นอย่างไร รายรับรายจ่ายของครอบครัวจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะสัมพันธ์กับการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องการมีลูก รายจ่ายควรแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น รายจ่ายประจำ เงินออมเผื่อฉุกเฉิน เงินออมระยะยาว เป็นต้น และเป็นไปได้ว่า อาจมีการวางแผนระยะยาวโดยแบ่งเฟซไว้คร่าวๆ เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนในแต่ละจังหวะเวลาตามความเหมาะสม หรือถ้าให้ดีก็วางวิสัยทัศน์ไปจนถึงช่วงเกษียณอายุที่จะอาจไม่มีรายรับเข้ามา ว่าครอบครัวควรมีการเก็บออมกันอย่างไรเพื่อจะไปถึงจุดนั้น

บัญชีครัวเรือนและผู้จัดการ

จำเป็นอย่างยิ่งที่ครอบครัวจะต้องมีการบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน รวมทั้งมีการสรุปยอดรายเดือนและรายปี ซึ่งควรมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการจดบันทึก ซึ่งนั่นหมายถึงการรับรู้และปรึกษาหารือร่วมกันในเรื่องรายรับและรายการใช้จ่ายต่างๆ

เงินกองกลาง

เปิดบัญชีกองกลางไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยตกลงกันก่อนว่าจะแบ่งรายได้มาเก็บร่วมกันคนละเท่าไร หรือใช้สูตรการประเมินรายจ่ายในแต่ละเดือน บวกเพิ่ม 10 เปอร์เซนต์ แล้วนำเงินจำนวนนั้นมาหารครึ่งเพื่อลงเงินกองกลาง ข้อดีของการเก็บเงินไว้กระเป๋าเดียวกันคือ บริหารง่าย ใช้จ่ายไม่ยุ่งยาก ไม่เสียเวลา

ใครจะทำงานบ้าน

การดูแลบ้านเป็นอีกเรื่องที่ต้องคุยกัน ยุคนี้ งานบ้านไม่ใช้ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป ใครจะทำอะไรตกลงกันให้ชัด เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถจัดสรรเวลาในการทำงานและพักผ่อนได้อย่างเหมาะสม หรือถ้าต่างฝ่ายต่างจำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน การจ้างคนมาดูแลทำความสะอาดก็เป็นอีกรายจ่ายที่ต้องคำนึงถึง

เมื่อรักจาง

แยกทางแบบสวยๆ ไม่มีใครรู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร การจัดการการเงินจึงควรคิดเผื่อสำหรับวันแยกย้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่อย่างน้อยก็จะได้จากกันด้วยดีไม่มีประเด็นแค้นให้ค้างชำระ ด้วยเหตุนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้อย่างสม่ำเสมอน่าจะช่วยให้การจัดการทรัพย์สินทำได้ง่ายขึ้นและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย สำหรับคู่ที่แต่งงานมีการจดทะเบียนสมรส การทำสัญญาระบุทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละคนตั้งแต่ก่อนแต่งงานจะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งได้ทางหนึ่ง ส่วนสินสมรสและหนี้สินใช้วิธีแบ่งกันคนละครึ่ง เมื่อเคลียร์ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมปิดทุกบัญชีเพื่อจบภาระทางการเงินร่วมกัน รวมทั้งเปลี่ยนชื่อผู้รับประโยชน์ในพินัยกรรม หรือกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจติดตามมาในภายหลัง