5G แก้ปัญหาความแออัดของข้อมูลใน 4G ได้อย่างไร


Opensignal เปิดเผยรายงานเรื่อง 5G สามารถแก้ปัญหาความแออัดของข้อมูลที่พบในเครือข่าย 4G ในปัจจุบันได้อย่างไร รายงานฉบับนี้ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจอย่าง เรื่องของความผันผวนเรื่องความเร็วของเครือข่าย 4G ในแต่ละวัน

กล่าวคือ ผู้ใช้พบกับความเร็วในการดาวน์โหลดของ 4G ในช่วงเวลาหนึ่ง แตกต่างจากอีกช่วงเวลาหนึ่ง มากถึง 30 Mbps ขึ้นอยู่กับประเทศของผู้ใช้งาน ความไม่สม่ำเสมอเหล่านี้เป็นผลมาจากปัญหาความแออัดของข้อมูล

4G กับปัญหาเรื่องความผันผวนของความเร็ว

ในเวลามีการใช้งานมากที่สุดระหว่างวัน เครือข่ายจะเต็มไปด้วยจำนวนการเชื่อมต่อ ซึ่งแต่ละการเชื่อมต่อต้องแข่งขันกันเพื่อจำนวนข้อมูลที่ต้องการ เป็นผลให้ความเร็วลดลง ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้ต่ำกว่าความเร็วเฉลี่ยของเครือข่าย

ความเร็วที่ผันผวนจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือเติบโต บริการและแอปพลิเคชันต่างๆ ในยุคถัดไปจำเป็นต้องใช้มากกว่าความรวดเร็ว นั้นคือความเสถียร ไม่อย่างนั้นบริการและแอปฯ เหล่านั้น จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้งาน จริงอยู่ที่ความเร็วในระบบ 5G จะเพิ่มขึ้น แต่เรื่องของความเร็วที่เสถียรกลับมีความสำคัญมากกว่า

แม้ว่าบางประเทศจะมีความเร็วที่เสถียรมากกว่าประเทศอื่น แต่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความผันผวนในช่วงที่มีการใช้งานมากด้วยกันทั้งสิ้น ประเทศที่มีความเสถียรมากที่สุด 77 อันดับ นั้นมีความหลากหลายมาก ซึ่งรวมถึงประเทศมหาอำนาจทาง 4G ในเอเชียและยุโรป แม้ว่าประเทศที่มีตลาด 4G ที่พัฒนาแล้วจะมีแนวโน้มว่ามีเสถียรภาพมากกว่า แต่เครือข่าย 4G ที่ทรงพลังนั้นไม่ได้หมายถึงการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพมากกว่าเสมอไป

โดยเฉพาะในเมือง ปัญหาดังกล่าวยิ่งมีความเด่นชัดมากขึ้น เราพบปัญหาความแออัดของข้อมูลรายชั่วโมงในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกมากกว่าในประเทศที่มีอันดับรองลงมา ในปารีส เราพบความเร็วเฉลี่ย 4G ในการดาวน์โหลดตั้งแต่ 21.5 Mbps ถึง 51.4 Mbps ตลอดวัน

เวลาที่มีการใช้งานมาก หรือเวลาที่ความเร็วต่ำสุด แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ในประเทศส่วนใหญ่ เวลาที่มีการบริโภคมากที่สุดคือช่วงกลางคืน ระหว่าง 20:00 น. ถึง 23:00 น. แต่ก็มีบางประเทศที่แปลกออกไป ในประเทศเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ประชาชนส่วนใหญ่ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในช่วงเย็น ในขณะที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นใช้งานสูงสุดเวลาเที่ยงตรง

เมื่อเปลี่ยนมาเป็น เครือข่าย 5G ปัญหาเรื่องนี้จะลดน้อยลงไป เนื่องจากระบบจะช่วยจัดการเรื่องจำนวนการเชื่อมต่อที่เพิ่มมากขึ้น และยังสามารถควบคุมความเร็วให้มีความเสถียรในขณะที่มีการเรียกใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ทำการเชื่อมต่อจำนวนมากขึ้นได้อีกด้วย

อ้างอิง: Opensignal