ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เรื่องที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่นี้ก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี จะกระทบกับชีวิตของเรามากน้อยต่างกันไป แต่คาดว่ามันจะกระทบกับชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่ว่านั้นคือเรื่องของ คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล และแน่นอนว่าเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังของเรื่องราวทั้งหมด
เรามาทำความรู้จักกับชื่อและความหมายของแต่ละเรื่อง เพื่อจะได้ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับต่อยอดและทำความเข้าใจกับการลงทุนรูปแบบใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในทุกวันนี้
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น หรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ
ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender)
คริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันแพร่หลาย แล้วเรามักจะได้ยินชื่อบ่อยๆ คือ Bitcoin และ Ethereum
โทเคนดิจิทัล (Digital Token)
หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (investment token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่นๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน ซึ่งอาจเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO)
การระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering)
ICO คือการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยบริษัทจะเสนอและ กำหนดขายโทเคนที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการที่เฉพาะเจาะจง และกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้โดยการนำคริปโทเคอร์เรนซี หรือเงิน มาแลกกับโทเคนที่บริษัททำการออก โดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย smart contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
ICO อาจไม่ใช่หุ้นและไม่ใช่หนี้ แม้ ICO จะมีชื่อคล้ายกับ IPO (Initial Public Offering – การออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชน) แต่ก็มีสาระสำคัญที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือผู้ถือโทเคนจากการลงทุนใน ICO อาจไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้น IPO และอาจไม่ได้มีฐานะเป็น เจ้าหนี้ของบริษัท อาจไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัทกรณีเลิกกิจการหรือล้มละลาย แต่ผู้ถือโทเคนจะมีสิทธิตามที่ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย ที่เรียกว่า white paper เท่านั้น
บล็อกเชน (Blockchain)
ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ มีกลไกที่ทำให้เกิดการทำธุรกรรมได้ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง หากเป็นบล็อกเชนแบบสาธารณะ (Public Blockchain) ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการยืนยันธุรกรรมและเข้าถึงข้อมูลบนบล็อกเชนได้ ธุรกรรมต่างๆ ที่ถูกบันทึกบนบล็อกเชนแล้วนั้น ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือทำลาย จึงเป็นระบบที่มีความโปร่งใสและความปลอดภัยสูง
ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการ (governance) ของบล็อกเชนและ ICO มีความหลากหลาย ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อประเมินโครงการ สิทธิที่ตนจะได้รับ และกลไกการจ่ายผลตอบแทนให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
อย่างน้อยหลังจากที่อ่านบทความนี้จบ ก็เชื่อว่าจะทำให้เราได้เข้าใจคำศัพท์ที่ใช้เรียก และความหมายของคำต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คริปโทเคอร์เรนซี, โทเคนดิจิทัล, ICO, white paper และบล็อกเชน ค่อยๆ ทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกัน จะได้เพิ่มโอกาสในการลงทุนรูปแบบใหม่
อ้างอิง: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์