จ้างแรงงาน & จ้างทำของ กับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม
เงินได้ที่ได้จากการจ้างแรงงาน หรือเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) คือ เงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง รวมถึงบรรดาเงิน ทรัพย์สินและประโยชน์เพิ่มต่างๆ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจากการจ้างแรงงาน
ส่วนเงินได้ที่ได้จากการรับทำงานให้หรือการจ้างทำของ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2) เป็นเงินได้ที่ได้จากการปฏิบัติงานของผู้มีเงินได้โดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ เช่น ค่านายหน้า การเป็นที่ปรึกษา การเป็นกรรมการ เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างเงินได้ ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1.ในเรื่องผลสำเร็จของงาน การรับทำงานให้หรือการจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างต้องการผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องวันเวลาทำงานหรือกระบวนการการทำงาน ส่วนการจ้างแรงงาน นายจ้างต้องการใช้ลูกจ้างให้ทำงานตามกำหนดเวลาการจ้าง มิได้มุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ
2.ในเรื่องการจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้าง การรับทำงานให้หรือการจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือสินจ้างก็ต่อเมื่องานที่รับจ้างแล้วเสร็จเป็นไปตามที่ตกลงกัน ส่วนการจ้างแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือสินจ้างตามกำหนดเวลาการจ้าง โดยไม่คำนึงว่างานจะแล้วเสร็จหรือไม่
3.ความรับผิดในผลแห่งการละเมิด การรับทำงานให้หรือการจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น ส่วนการจ้างแรงงานนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิดที่ลูกจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นในทางการที่จ้างหรือตามหน้าที่งานที่จ้าง
4.ความเป็นอิสระในการทำงาน การรับทำงานให้หรือการจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีอิสระในการทำงานไม่ต้องอยู่ในบังคับของผู้ว่าจ้าง ส่วนการจ้างแรงงาน ลูกจ้างไม่มีอิสระในการทำงาน นายจ้างสามารถใช้อำนาจบังคับบัญชาได้
ภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีของการให้บริการ โดยปกติจะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ฐ) ส่วนการรับทำงานให้หรือการจ้างทำของ ตามมาตรา 40 (2) ถือเป็นการให้บริการซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นค่าตอบแทนของกรรมการ ที่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205) )
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องพึงระวัง คือ หากท่านใดที่ได้รับเงินได้ค่าบริการจากการรับทำงานให้หรือการจ้างทำของมีมูลค่าเกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินได้ค่าบริการในส่วนที่เกินมูลค่า 1,800,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น และในปีถัดไปแม้จะมีเงินได้ค่าบริการไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับปีถัดไปนั้นจากเงินได้ค่าบริการทั้งจำนวน อันนี้ก็ควรจะต้องระมัดระวังและวางแผนเตรียมการให้ดีๆ ครับ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]