ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจไอทีเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะมีเทรนด์หลักที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ เอดจ์ คอมพิวติ้งจะกลายเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจ เรากำลังอยู่ในยุคที่เอดจ์ คอมพิวติ้ง เข้าสู่ช่วงของการสร้างผลิตผลและกลายเป็น “จริง”
ผู้ใช้ในองค์กรและผู้บริโภคจะพบกับ เอดจ์ ดาต้า เซ็นเตอร์ ได้จากบริการที่นำเสนอในรูปแบบต่างๆ ซึ่ง Global Market Insights คาดการณ์ว่า ตลาดเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จะมีมูลค่าทะลุ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2024 โดยมีการลงทุนระบบโครงสร้างเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ แล้วในเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจค้าปลีก การเงิน ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และความงาม ล้วนแล้วแต่เป็นภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยการประมวลผลมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อเครือข่าย และการจัดเก็บข้อมูลในจุดที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้ปลายทาง
เอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าในการประมวลผล
ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความต้องการเอดจ์ คอมพิวติ้ง คือผู้บริโภคไม่อดทนกับเรื่องความล่าช้า หรือ latency ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ การตัดสินใจสำคัญหลายอย่างในธุรกิจและการตัดสินใจของผู้บริโภค ล้วนขึ้นอยู่กับความคล่องตัวในการเรียกใช้ข้อมูลได้ทันใจในแบบเรียลไทม์ ถ้าเรามองที่เศรษฐกิจอี-คอมเมิร์ซ หากโมบายเว็บไซต์ไม่สามารถโหลดเสร็จภายใน 3 วินาที ก็จะทำให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมไม่สนใจไซต์นั้นไปเลย และหากการทำธุรกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเสี้ยววินาที เงินก็จะไม่มีการเปลี่ยนมือ และผู้ขายเองก็เสี่ยงที่จะเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งได้
ความต้องการด้านการบริการต่างๆ ที่ต้องอาศัยเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นโมบาย มันนี่ แอปฯ ที่ให้ประสิทธิภาพการใช้งานได้ ณ สถานที่นั้นๆ ลูกค้าก็ได้รับประสบการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น หรือการทำวิดีโอสตรีมมิ่ง การใช้ประโยชน์ของ smart mirror AR ที่เลือกเปลี่ยนแบบชุดได้จากหน้าจอ ยานยนต์แบบไร้คนขับ เทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยเอดจ์ คอมพิวติ้ง ประสิทธิภาพสูง ซึ่งแน่นอนว่าการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ ดังนั้นการส่งข้อมูลสำคัญแบบเรียลไทม์จากรถยนต์ไปยังเอดจ์ ไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาค ไปที่คลาวด์ และส่งกลับมาอีกครั้งที่รถยนต์เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งการ จะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการใช้ระบบโครงสร้างเอดจ์อย่างมหาศาลซึ่งสามารถแคช (cache) ข้อมูลขนาดใหญ่พักไว้ในระบบ พร้อมทั้งนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว
ปัญญาประดิษฐ์มีอยู่ทุกที่
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นที่พูดถึงกันเป็นอันดับต้นๆ ในวงการเทคโนโลยี เรื่องนี้ยังคงขยายวงกว้างออกไปในปี 2019 นั่นเป็นเพราะว่าในแวดวงธุรกิจหรือกระทั่งที่บ้านก็ตาม ทั้งเวิร์กโหลดและแอปฯ ที่ต้องใช้ข้อมูลอย่างจริงจัง ซึ่งให้ศักยภาพการทำงานผ่านเครือข่ายเอดจ์ใหม่ ล้วนต้องอาศัย AI เช่นกัน โดย AI จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์และแปลข้อมูลจากแอปฯ ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้คน (และในบางกรณียังรวมถึงจักรกลอื่นๆ) สามารถตัดสินใจและตอบรับกับสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ยังเป็นปีแห่งการเฟ้นหาผู้มีความสามารถพิเศษเพื่อสร้างแอปพลิเคชันใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการใช้งานจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา
AI จะช่วยเรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพการทำงานและระยะเวลาในการตอบสนองการใช้งาน หรือ response times ซึ่งจะแยกจากงานหนักในส่วนโมเดลการฝึกฝนของ AI ที่เป็นสเกลใหญ่ ซึ่งต้องทำผ่านดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีศูนย์กลางอยู่บนคลาวด์ โดยสำหรับเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีการมอนิเตอร์อยู่ตลอด จะเกาะติดกิจกรรมที่มีความผิดปกติ โดยอาศัยการเรียนรู้ของ AI ว่าระบบไหนมีพฤติกรรมการทำงานอย่างไร โดยในทางกลับกันก็จะช่วยขับเคลื่อนในเรื่องของการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์และการบำรุงรักษาระบบงานในเชิงรุกตามเงื่อนไขการทำงาน การเรียนรู้ในระดับของจักรกลจะช่วยให้บริหารจัดการได้อย่างเรียบง่าย ช่วยลดเวลา และลดการใช้ทรัพยากรสำหรับกิจกรรมที่เพิ่มคุณค่าทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
อ้างอิง: ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย