“เฟซบุ๊ก” แนะเคล็ดลับที่ใช้ได้จริง ช่วยสังเกตข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ ย้ำ!


สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม “เฟซบุ๊ก” เปิดเผยผลการสำรวจเกี่ยวกับทักษะเชิงดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค พบว่าในประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 42 และร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความมั่นใจว่าสามารถระบุข่าวปลอมและโปรไฟล์ปลอมได้

จากประเด็นดังกล่าว “เฟซบุ๊ก” จึงนำเสนอเคล็ดลับที่ใช้ได้จริง เพื่อช่วยให้ผู้คนมีทักษะและสามารถสังเกตข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ได้ ประกอบไปด้วย

1.ศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนการแชร์เสมอ

คือพิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุน ตรวจสอบวันที่ โดย 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยระบุว่า พวกเขาตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือไม่ และในประเทศไทย ร้อยละ 41 ตรวจสอบว่าภาพที่อยู่ในบทความมีที่มาจากไหน และร้อยละ 33 ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมจากการรายงานหรือข่าวอื่น

2.อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว

ข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำมักมีการพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึก เพื่อให้เกิดจำนวนการคลิกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื้อหาของข่าวปลอมบางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด เพื่อการหาผลประโยชน์จากนักอ่านเวลาน้อย โดยในประเทศไทย ร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขาอ่านบทความจนจบก่อนที่จะแชร์ต่อ

3.แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว

โดยบุคคลมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนตัว ดังนั้น ก่อนที่จะระบุว่าเรื่องราวใดๆ ไม่เป็นความจริง ควรไตร่ตรองให้ดีว่าอคติส่วนตัวไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาในขณะนั้น

4.คิดเชิงวิเคราะห์

บางเรื่องราวในเฟซบุ๊ก ถูกจงใจสร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น ควรแชร์ข่าวที่มั่นใจว่าเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น ด้วยการคิดวิเคราะห์และพิจารณาบริบทอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะข่าวปลอมมักจะประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง ซึ่งในบางครั้ง รูปภาพนั้นอาจเป็นรูปภาพที่แท้จริง แต่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบริบท ซึ่งเราสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันที่มาที่ถูกต้องได้