ภาษีที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 22)


รายจ่ายค่ารับรอง กับหลักเกณฑ์ทางภาษี

สำหรับผู้ประกอบการ SME รายจ่ายค่ารับรองเป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทจะต้องมี จะต้องให้การต้อนรับกับลูกค้า หรือบุคคลสำคัญ เพื่อผลประโยชน์หรือการค้าขายของบริษัท ซึ่งเมื่อจ่ายไปแล้วจะนำมาถือเป็นรายจ่ายของบริษัทได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในเรื่องนี้มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (4) และกฎกระทรวงฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 222 (พ.ศ.2542) )

1.ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น จะต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็น ตามธรรมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการจะต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย

2.ค่ารับรองหรือค่าบริการ จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือเป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ ซึ่งไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ ซึ่งหากซื้อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะสามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายได้เพียง 2,000 บาทเท่านั้น

3.จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการ ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้ หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี หรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้ รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท

4.ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการหรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงินสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร

ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจ่ายล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือเงินอื่นที่จ่ายไปในลักษณะทำนองเดียวกันเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ สโมสรกีฬา (Sport Club) หรือสโมสรเพื่อการพักผ่อนหรือสันทนาการ (Member Club) หรือเงินค่าเล่นกอล์ฟ ค่าเล่นกีฬา ค่าตอบแทนเพื่อการพักผ่อนหรือสันทนาการดังกล่าว

หากไม่เป็นการจ่ายตามข้อกำหนดในลักษณะเป็นการจำกัดเฉพาะตัวบุคคลบางคนซึ่งเป็นกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้เข้าไปใช้บริการ

แต่เป็นการจ่ายตามข้อกำหนดเพื่อให้การรับรองลูกค้าตามหลักเกณฑ์ของค่ารับรองดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น และแม้ว่าจะเปิดโอกาสให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้เข้าไปใช้บริการได้เป็นการทั่วไปด้วย ก็เข้าลักษณะเป็นค่ารับรองที่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ถือเป็นรายจ่ายที่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเป็นการส่วนตัวหรือรายจ่ายต้องห้ามแต่อย่างใด

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]