คุ้ม แค่ไหน ให้ถามหมอ? “ทำงานเยอะ” มีสตางค์ – ร่างพัง ป่วยหนัก จ่ายค่ารักษา


#งานกระจุย #ป่วยกระจาย

หากใครทำงานหนักสะสมเป็นเวลาติดต่อกันหลายชม. หรือโดยเฉลี่ยต่อวันเกิน 8 ชม. แถมพอถึงเวลาพักก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนไม่ได้พักเลย นานๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกถึงร่างจะพัง

ลืมตาอีกทีอยู่โรงพยาบาล แบบนี้จะแย่เอานะคะ 

ทางที่ดี ถ้าหากงานที่ทำมันแทรก มันซ้อน หรือเยอะจริงๆ จนหาเวลาทำไม่ทัน อันนี้คงต้องหาทางแก้ แล้ว…

Q : จะแก้ยังไง

A : พนักงานเงินเดือนอย่างเราๆ เมื่ออยู่ๆ รู้สึกแย่ เหมือนมีความร่างพังขึ้นมา ก็ได้เวลา Change!! นั่นคือคุณต้องหันมาจัดบาลานซ์เวลาชีวิตการทำงาน หรือที่เรียกว่า Work-Life Balance กันแล้วค่ะ ก่อนที่จะสายเกินไป 

1.กำหนดช่วงเวลาแห่งการ #Flow ของตัวเองในการทำงาน

ในหนึ่งวันนั้นไม่ว่าชีวิตเราจะยุ่งวุ่นวายขนาดไหน
อย่างน้อย ให้เผื่อเวลา 1-2 ชั่วโมง
ให้เป็นช่วงเวลาที่ทำงานได้ลื่นไหลไม่มีสะดุด

ซึ่ง ‘Flow’ ที่ว่านี้ก็คือช่วงเวลาที่คุณจะมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพียงอย่างเดียว จนครบกำหนด ซึ่งในช่วงเวลาที่คุณตั้งเอาไว้นั้น จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวหรือวุ่นวายกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การทำงานเลย

โดยระยะเวลาแห่งการ Flow นี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่คุณจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้งานมากที่สุดด้วย

2. ลองใช้ตัวจัดการเรื่องเวลาอย่าง #TimeBoxing

Time Boxing เป็นการผสมกันของ To do list (สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน)

+ Calendar (ลำดับงานแต่ละสัปดาห์)

– ให้ลิสต์ว่าในหนึ่งสัปดาห์คุณจะทำอะไรบ้าง
– ในแต่ละวัน แยกหมวดหมู่ออกเป็นส่วน ๆ ดูว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นมีอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารเวลา
– เว้นวรรคในแต่ละกิจกรรมที่ตั้งไว้ด้วย เพื่อรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเช่น งานด่วน หรืองานที่ต้องใช้เวลานานในการเคลียร์ด้วย

สิ่งนี้ก็คือตัวช่วยที่จะให้คุณจัดสรรเรื่องเวลาในแต่ละวันให้ลงตัวได้มากยิ่งขึ้น

3. รู้ว่าเวลาไหนควรจะ #หยุดพัก

ในการจัดสรรเวลาแต่ละวัน หรือทั้งสัปดาห์ คุณต้องไม่ลืมที่จะใส่เวลาในการพักผ่อนเอาไว้ด้วย

มีคำแนะนำว่า การทำงานนั้นควรจะมีช่วงเวลาหยุดพักทุก ๆ 90 นาที หรือ 2 ชั่วโมง โดยอาจจะใช้เวลาพักเพียงแค่ 15 นาที ก็เพียงพอต่อการกลับไปนั่งทำงานต่อได้แล้ว แต่การพักนั้น ก็ไม่ได้หมายความจะต้องหยุดพักทุก ๆ 90 นาที หรือสองชั่วโมงเท่านั้น เพราะหากคุณมีอาการเครียด ปวดหัว หรือปวดตา ก็ควรที่จะหยุดพักในทันที โดยการฝืนทำต่อทั้งที่มีอาการนั้น ไม่ส่งผลดีกับงานของคุณอย่างแน่นอน แถมบางทีอาจจะไม่ได้งานอีกด้วย

4. รู้ว่าการหยุดพักที่ต้องทำอย่างไร

เมื่อรู้ว่าช่วงเวลาที่คุณควรจะหยุดพักจากการทำงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ก็คือ การหยุดพักระหว่างทำงานควรจะต้องทำอย่างไร ซึ่งหลายคนยังคงเข้าใจผิด เช่น หยุดพัก 15 นาที แต่ในช่วงเวลา 15 นาทีนั้น คุณยังคงเปิดอีเมลตอบเรื่องงานจากมือถือ หรือยังคงนั่งใช้ความคิดเรื่องแผนในการทำงานต่อ นั่นไม่ใช่การพักที่ดีแน่ โดยการพักที่เหมาะสมที่สุดนั้น ทำได้ดังนี้

-การออกกำลังกายแบบเบา ๆ

มีคำแนะนำว่าการออกกำลังกายแบบเบา ๆ ในช่วงพักนั้นจะช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เพราะเมื่อร่างกายได้เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย ก็จะหลั่งสารที่ช่วยลดความเครียดได้ ทำให้มีสมรรถภาพในการทำงานที่ดีขึ้นได้

-การยืดเส้นคลายกล้ามเนื้อ

อีกหนึ่งวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพียงแค่ทำท่ายืดคลายกล้ามเนื้อที่ช่วยให้คลายจากการปวดหลังและปวดคอ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น มีผลในการช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

-ทานอาหารว่าง

หากว่าที่ทำงานของคุณไม่ได้มีกฏห้ามทานของว่างบนโต๊ะทำงานแล้วละก็ ช่วงเวลาพัก 15 นาทีนี้ ควรจะใช้ไปกับการทานของว่างที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ หรือพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ รวมทั้งดาร์กช็อกโกแลตที่มีผลต่อการลดความเครียด ก็เป็นตัวช่วยสร้างความผ่อนคลายให้ได้เหมือนกัน แต่ก็มีข้อควรระวังว่าไม่ควรทานเยอะเกินไป และอย่าทานจนเลยเวลาพักที่ตั้งไว้ด้วยนะ

 

#รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่เต็มที่กับการทำงานทั้งวัน จนไม่เหลือเวลาให้กับการพักเลย ก็คงจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ เพราะความทุ่มเทในการทำงานเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพก็เป็นได้ แถมค่ารักษาสมัยนี้ก็แพงหูฉี่ มากันไว้ดีกว่าแก้ ดีกว่านะคะ