ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “Startup” ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของคนรุ่นใหม่ หรือหนุ่มสาวในกลุ่ม Gen-Z ที่เป็นอีกบททดสอบให้พวกเขาเหล่านั้น ก้าวออกจากพรมแดนการศึกษา สู่มิติทางธุรกิจของตัวเอง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พยายามพัฒนา “นักศึกษา” ให้ต่อยอดและยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต
แผนพัฒนานักศึกษาของ “ธรรมศาสตร์” ภายใต้รูปแบบที่ถูกเรียกว่า ‘ระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ’ หรือ Startup Ecosystem@TU ผ่านโครงการบ่มเพาะในเชิงธุรกิจจากองค์ความรู้ของสถาบันเอง รวมถึงการจับมือพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจกับการ “Startup”ธุรกิจ ทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ
ดอกผลที่ว่า ถูกนำมาแต่งแต้มให้นักศึกษาเกิดไอเดียเชิงธุรกิจที่จับต้องได้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต และผลสำเร็จของโครงการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เริ่มส่งผลให้สังคมได้เห็นถึงความสามารถของคนรุ่นใหม่ ที่นำความฝันแปรสภาพเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นได้จริง
ทำความรู้จักกับ “Horhere”
เพจเฟซบุ๊ก ‘Horhere’ คือเพจที่พัฒนาจากแนวคิดของสองหนุ่มสาวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งคือ ‘มะเหมี่ยว’ อนัญชนา พัฒนานันท์ ที่ร่วมกับเพื่อนซี้ ‘เต้’ จิรายุ พุฒาพิทักษ์ พัฒนา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ ปั้นเพจนี้ออกมา เพื่อเอาใจนักศึกษาที่มองหาหอพักใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
“ปัจจุบันนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่อยู่หอพักมีมากถึง 50% ทำให้เราคิดว่าถ้าพวกเขามีข้อมูลที่มากพอ ทุกคนก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ได้ จึงพัฒนาเพจ Horhere ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อเรื่องเช่าหอพักอย่างเป็นระบบและน่าเชื่อถือให้แก่นักเรียนนักศึกษาในอนาคต” มะเหมี่ยว อนัญชนา เปิดฉากเล่าให้ฟังถึงที่มา
ปัญหาที่เกิดกับนักศึกษา
อนัญชนา ฉายภาพอีกว่า ปัญหาขณะนี้คือนักศึกษาหลายคนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อจองหอพักที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย บางหอพักได้รับความนิยมมากต้องมาจองคิวตั้งแต่ตี 5 โดยยังไม่รู้ว่าห้องว่างหรือไม่ บางคนเจอปัญหาการทำสัญญา โอนเงินไปแล้วแต่ผู้เช่าเดิมยังไม่ย้ายออก เพราะใช้บริการจากเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กที่ไม่น่าเชื่อถือ
กระนั้น เธอสะท้อนให้ฟังจากการลงพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมทีมงานอีก 8 คน สิ่งที่ได้เห็นคือ มีหอพักกว่า 38 แห่ง และมีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 1 หมื่นห้อง แต่การขาดข้อมูลที่ดีและความไม่สะดวกในการประสานงานต่างๆ ทำให้นักศึกษาผู้หญิงบางคนต้องตัดใจ เช่าหอพักที่ไกลออกไป สุ่มเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการเดินทาง
“เพจ Horhere เป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นตัวกลางประสานระหว่างหอพักกับผู้เช่า วางระบบการชำระเงินที่น่าเชื่อถือ โดยจะเริ่มต้นจากหอพักบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อน หากประสบความสำเร็จก็จะประชุมร่วมกับทีมงานเพื่อพัฒนาต่อไป” มะเหมี่ยว ย้ำ
รูปแบบของโมเดลธุรกิจ
ขณะที่ “เต้” จิรายุ กล่าวว่า กว่าจะมาเป็นเพจ Horhere ในวันนี้ ทีมงานต้องระดมสมองเพื่อ Pitch ไอเดียในเวที “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก” จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาได้รับความสนใจและได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารออมสิน แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น อาจจะยังไม่เพียงพอเพื่อทำแอปพลิเคชันตามเป้าหมายที่ฝันไว้
“แผนของเราคือเป็นตัวกลางระหว่างนักศึกษากับเจ้าของหอพัก ซึ่งส่วนใหญ่เคยทำธุรกิจแบบออฟไลน์ ด้วยการนำอินเทอร์เน็ตมาช่วยเหมือนแอร์บีแอนด์บี (Airbnb) หลังจากเปิดเพจระยะหนึ่งเราสามารถปิดดีลได้แล้วบางส่วน ขณะนี้กำลังเพิ่มฐานลูกค้าและทำคอนเทนท์ในเพจให้มากขึ้น ถ้าทำสำเร็จเราคิดว่าจะขยายไปสู่หอพักในโซนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต” จิรายุ หนุ่มนักศึกษาปี 3 เศรษฐศาสตร์ ของธรรมศาสตร์ ฉายภาพความฝันในอนาคตของธุรกิจ