The Stronger ฅนหัวใจแกร่ง EP.9 วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นักสู้เพื่อผู้พิการไทย


ต้องเชื่อว่าตาบอดทำได้ทุกอย่าง และต้องหางานที่ท้าทายให้ทำ เพราะงานที่ท้าทายเท่านั้น ที่ดึงความสามารถคนพิการ หรือคนทั่วไปออกมา คำสอนนี้ จริงๆผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เลยลองฝึกดูตั้งแต่การใช้ไม้เท้าช่วยตัวเองไปในที่ต่างๆ เวลาเราฝึกมากขึ้น มันก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่น จนทำได้: ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

รายการ The Stronger คนหัวใจแกร่ง ครั้งนี้ พาไปพบกับศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้พิการทางสายตาที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายและ พรบ. ที่เกี่ยวเนื่องกับคนพิการ เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนคนพิการให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณวิริยะ เล่าย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้สายตามืดบอดไปในช่วงอายุ 15 ปี ขณะนั้นเรียนอยู่ มส.3 เนื่องจากเป็นคนชอบทดลองวิทยาศาสตร์ และวัตถุจุดชนวนระเบิดหาได้ง่าย เพราะเป็นช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม หลังจากมีเด็กคนอื่นไปเล่นวัตถุเหล่านั้นแล้วไม่ระเบิด เค้าก็ทิ้งไว้ในกล่องในเครื่องมือวิทยาศาสตร์ตนเอง เมื่อไปเล่นต่อจึงเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ต้องสูญเสียนิ้วและตาทั้งสองข้างไป

ช่วงรักษาตัวที่โรงบาลศิริราช เมื่อรู้ว่าตาบอดใหม่รู้สึกเสียใจมาก เพราะฝันมาตลอดว่าอยากเป็นหมอ แล้วก็ทุ่มเทเรียนอย่างหนัก ซึ่งคุณพ่อก็ได้ปลอบใจว่าเดี๋ยวจะให้ไปเรียนหมอดูที่ศาลเจ้าพ่อเสือ จนพี่ชายมารับที่โรงบาล คุณหมอก็แนะนำให้พาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ช่วงที่ไปเรียนถือว่าโชคดีมาก เพราะไปพบกับผู้ก่อตั้งโรงเรียนคือ มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน แล้วเธอก็ให้ ซิสเตอร์โรส มัวร์ นี่ แม่ชีชาวไอริช เข้ามาช่วย ซึ่งเธอเป็นคนตาดี เมื่อเรียนมาซักระยะก็ได้เข้าไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล บางคนแหม่มก็ส่งไปเรียนที่อเมริกาที่โรงเรียนของท่านที่โอเวอร์บรุ๊ค เพนซิลเวเนีย

เธอจะคอยสอนตลอดว่าให้ท่องคาถาเลยว่าต้องเชื่อว่าตาบอดทำได้ทุกอย่าง และต้องหางานที่ท้าทายทำเพราะงานที่ท้าทายเท่านั้นที่มันดึงความสามารถของคนพิการออกมาได้ หรือดึงความสามารถของคนทั่วไปออกมาได้ เราต้องเป็นคนที่อดทนและไม่ยอมจำนนกับอะไรง่ายๆ คำสอนนี้ จริงๆไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เลยลองฝึกดูตั้งแต่การใช้ไม้เท้าช่วยตัวเองเดินไปกินข้าว หรือไปในที่ต่างๆด้วยตัวเอง เวลาเราฝึกมากขึ้น มันก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นเรื่อยๆว่าที่ท่านสอนมันจริง คนตาบอดทำได้ เพราะว่าไอ้เรื่องเหล่านี้ไม่เคยคิดว่าจะทำได้เลย แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเองว่าทำได้

จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านกฎหมาย เพราะได้ยินว่าต่างประเทศเขาให้คนตาบอดทำงานนี้ได้ จนจบคณะนิติศาสตร์ได้ที่ 1 ของรุ่น และมีความโชคดีอีกอย่างคือกฎหมายไทยแก้เสร็จพอดี คือเดิมจะห้ามคนทุพพลภาพทำงานนี้ แต่มีการไปเติมอีกหนึ่งวลี ว่าถ้าปฏิบัติงานได้ก็เป็นได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็เป็นไม่ได้

นอกจากการเป็นนักกฎหมาย อีกหนึ่งบทบาทที่ภาคภูมิใจอย่างมาก คือการเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ซึ่งสอนกฎหมายภาษีมากว่า 42 ปีแล้ว และยังเป็นอาจารย์ผู้พิการคนแรก ที่ได้รับราชการ

นอกจากการเป็นอาจารย์แล้ว คุณวิริยะยังเปิดยิ้มสู้คาเฟ่เพื่อคนพิการอีกด้วย ซึ่งแนวคิด เกิดจากความต้องการสร้างงานให้คนพิการ บวกกับประสบการณ์จากต่างประเทศที่รู้มาว่าคนพิการ สามารถทำงานในร้านอาหาร หรือร้านกาแฟได้ จึงลองนำมาปรับใช้ ซึ่งก็ได้ผล เพราะหลังจากที่เปิดร้านในคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เกือบปีก็ขายดีใช้ได้

‘เราต้องการจะเปลี่ยนคนพิการ จากภาระให้เป็นพลังให้มากที่สุด เท่าที่เรามีปัญญาทำได้’

สำหรับการเข้าถึงสวัสดิการของคนพิการในปัจจุบัน มองว่าเป็นไปได้ด้วยดี ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในย่านอาเซียน เพราะกฎหมายต่างๆ พวกเราเป็นคนผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นมา แต่ในชนบทที่ห่างไกล ก็อาจจะยังมีปัญหามากหน่อย เพราะศูนย์บริการที่จะไปเชื่อมเอาคนพิการมารับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย มันไม่มี

นอกจากนั้นก็จะยังคงผลักดันเรื่องการสร้างเจตคติ ให้สังคมไทยมีต่อคนพิการในทางที่สร้างสรรค์ เชื่อว่าคนพิการมีความสามารถ ไม่ได้เป็นภาระอย่างเดียว เมื่อเชื่อแล้วการให้โอกาสคนพิการในเรื่องต่างๆก็จะตามมา และท้ายที่สุดก็จะเกิดสภาพแวดล้อม เช่น อาคาร สถานที่ ที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของทุกคน

สุดท้ายอยากให้ช่วยรณรงค์หรือแชร์เรื่องราวที่เป็นความสามารถของคนพิการ เพื่อให้สังคมไทยได้เชื่อว่าคนพิการทำได้ แล้วก็อยากให้ร่วมกับเราในการเรียกร้องที่จะให้สังคมไทยได้เปิดโอกาสให้เรา เช่น ให้เรียนทุกเรื่องที่เราอยากเรียน ให้งานทำก็ต้องให้งานเราทำทุกเรื่องที่เราอยากทำ ไม่ใช่ พอตาบอดก็ขายหวย รับโทรศัพท์ หรือหมอนวด

มันก็ทำให้เราไม่สามารถใช้ศักยภาพเต็มที่ แล้วก็ช่วยเรารณรงค์ห้สภาพแวดล้อมเอื้อสำหรับทุกคน เพื่อสังคมไทยจะได้เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน