ผลสำรวจเผย 4 ใน 5 ของคนไทยมั่นใจการใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัล


สี่ในห้าของคนไทย (78 เปอร์เซ็นต์) พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวในชีวิตประจำวัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2560 ที่มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ อ้างอิงผลจากการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Survey 2018)

โดยผลสำรวจ เผยทัศนคติและพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์สำคัญของผู้บริโภคจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน จากแปดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 500 คนจากประเทศไทย

การสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า จัดทำโดย Intuit Research ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 ใน 8 ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานจากประเทศไทยจำนวน 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ครอบคลุมในทุกระดับการศึกษาและมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาท เป็นต้นไป

โดย 57 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคชาวไทยนั้นนิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล อาทิ บัตรเดบิต/เครดิต แอปพลิเคชันการชำระเงินบนสมาร์ทโฟน และคิวอาร์โค้ด เทียบกับเพียง 43 เปอร์เซ็นต์ที่ยังนิยมใช้เงินสด

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การที่คนไทยมีความเชื่อมั่น และใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมผลักดันระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง”

“นอกจากนั้น เราเชื่อว่าการที่คนไทยหันมาชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการชำระเงินที่มีหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับมีร้านค้าที่รับชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถชำระเงินด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลาย อาทิ สมาร์ทโฟนแอปพลิเคชัน อุปกรณ์สวมใส่ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยสำหรับร้านค้าที่เคยรับแต่เงินสดเพียงอย่างเดียว ยังมีคิวอาร์โค้ดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการรับชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และคุ้มค่า”

ผลสำรวจพบว่า จำนวนสองในห้าของคนไทย (42 เปอร์เซ็นต์) มีการพกเงินสดน้อยลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2560 ที่มีเพียง 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคพกเงินสดน้อยลงมาจากความไม่ปลอดภัยในการพกพาเงินสด (65 เปอร์เซ็นต์) การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลที่มากขึ้น (65 เปอร์เซ็นต์) และความไม่สะดวกในการใช้เงินสด (39 เปอร์เซ็นต์)

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าสำหรับคนที่พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวนั้น กว่า 60 เปอร์เซ็นต์สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หนึ่งวันโดยไม่ใช้เงินสด และมีจำนวนถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเลยได้นานกว่าสามวัน

โดยภาพรวมแล้ว มีคนไทยจำนวนมากขึ้นที่แสดงความมั่นใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต ซึ่งกว่าหนึ่งในสาม (29 เปอร์เซ็นต์) มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ภายในสามปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 มีเพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และกว่า 39 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะใช้เวลาสี่ถึงเจ็ดปีเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด ในขณะที่คนไทยราว 6 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี

“จากผลสำรวจดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดี และทำให้มั่นใจได้ว่าเราได้เดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการแสดงให้ผู้บริโภคและร้านค้าตระหนักถึงประโยชน์จากการชำระเงินรูปแบบดิจิทัล ในขณะเดียวกันเรายังคงมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศน์การชำระเงิน และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ จากเครือข่ายของวีซ่าทั่วโลก เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างเต็มตัว” นายสุริพงษ์ กล่าวสรุป