หากพูดถึงหัวหน้างานเมื่อไร ก็ต้องนึกถึงคำๆ นี้


พูดถึงเรื่องของการเป็นหัวหน้างานที่ดีเมื่อไหร่ ก็ต้องนึกถึงคำๆ หนึ่งก็คือ “ความเป็นธรรม” ซึ่งแน่นอนใครๆ ก็อยากจะได้หัวหน้าที่ดีจะต้องปฏิบัติต่อลูกน้องทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาค

มีการกล่าวกันเล่นๆ ของมนุษย์เงินเดือนออฟฟิศ ดังคำที่ว่า“ได้หัวหน้างานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” แม้จะดูเหมือนเรื่องขำๆ แต่ในความเป็นจริงไม่น่าขำเลยสักนิด บางครั้งหลายคนท้อใจกับการทำงาน นั่งบันทอนความรู้สึกที่ได้รับ ในความจริงสังคมของการทำงาน หัวหน้าที่ลำเอียงจริงๆ มีหรือไม่ คำตอบก็คือ มีแน่นอนครับ บางคนตั้งใจเลือกปฏิบัติเลยก็มีนะครับ ชอบใคร ไม่ชอบใครก็ปฏิบัติต่อลูกน้องแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่ชอบมีสิทธิ์หลายๆ สิ่งกว่าคนอื่นโดยไม่ต้องตรวจสอบถามหาถึงที่มาที่ไป ส่วนคนที่ไม่ชอบ ก็จะไม่อยากที่จะทำอะไรให้ หรือแม้เพียงจะทำอะไรก็โดนจับตามองเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

พฤติกรรมแบบไหนที่ลูกน้องคิดว่า “หัวหน้าลำเอียง”

• เลือกปฏิบัติ เช่นลูกน้องคนไหนเอาใจเก่งก็จะคอยเรียกหาแต่คนนั้น หรือลูกน้องคนไหนหน้าตาดีก็จะปฏิบัติดีด้วยเป็นพิเศษ หรือกรณีที่ลูกน้องในทีมเป็นคนหัวแข็ง ทำให้หัวหน้างานไม่ค่อยจ้ำจี้จ้ำไชเท่ากับคนอื่นๆ ก็ถือเป็นการลำเอียงแบบหนึ่งในสายตาลูกน้องเช่นกัน

• ไม่ยุติธรรม ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว อาทิเช่น สั่งให้ลูกน้องทำงานงก ๆ เมื่อถึงเวลารายงานผลหัวหน้ากลับไม่ให้เครดิตลูกน้องที่ทำงานหนักปิดท้าย หรือเวลาที่ลูกน้องในทีมมีปัญหาแต่กลับไม่ไต่สวนให้ละเอียด ฟังความข้างเดียวแล้วตัดสินปัญหา

• มีอคติ การเอาความผิดพลาดของลูกน้องมาเป็นตัวแปรในการประเมินทุกๆ อย่าง โดยไม่มองถึงการกระทำในปัจจุบัน หรือการไม่ค่อยชอบลูกน้องที่ไม่ได้ร่วมสังสรรค์กับทีมเป็นประจำก็ถือว่ามีอคติเช่นกัน

• โลกแคบ ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ ของทีม ยึดเพียงความคิดของตัวเองเป็นหลัก

แม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกของลูกน้องได้ ฉะนั้นหัวหน้าที่ดีอย่าลืมที่จะใส่ใจในความรู้สึกของลูกน้องที่ร่วมทีม เพราะจากความรู้สึกไม่ดีนิดๆ หน่อยๆ หากสะสมอาจจะทำให้ลูกน้องเบื่อหน่ายจนไม่อยากทำงานด้วยก็เป็นได้