ภัยเงียบ! หมูกระทะ จิ้มจุ่ม คีบเนื้อเพลินอาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิต


“หมูกระทะ” และจิ้มจุ่ม อาหารที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อาจจะด้วยความสะดวกที่สามารถรับประทานได้ง่าย เรียกได้ว่าเดินไปที่ไหนก็เจอ ไม่ว่าจะเป็นตามร้านอาหารข้างทาง เรื่อยไปจนถึงห้างสรรพสินค้า จนกลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนทุกรุ่นทุกวัย

ถึงแม้ว่าวัตถุดิบที่นำมารับประทานจะถูกปรุงสุกจากการย่าง หรือต้ม แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะพฤติกรรมการรับประทานของคนไทยที่เราสังเกตได้ คือมักจะใช้ตะเกียบคีบเนื้อต่างๆ ใส่ลงไปในหม้อ และก็จะตะเกียบอันเดิมคีบเนื้อชิ้นรับประทาน ซึ่งตรงนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียบนหมูดิบถึงแม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม

โดยแบคทีเรียดังกล่าวชื่อว่าสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ซึ่งพบได้ในหมูดิบ ส่งผลให้เป็นโรคไข้หูดับ ซึ่งจะมีอาการจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ประสาทหูอักเสบจนหูดับ อุจจาระร่วง หนาวสั่น ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ถ้าร้ายแรงที่สุดก็ถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

ดังนั้น การรับประทานหมูกระทะ จิ้มจุ่ม หรือสุกี้ แม้เนื้อจะถูกปรุงสุกแล้ว แต่ก่อนหน้านั้น คือตอนที่ใช้ตะเกียบคีบเนื้อสดไปใส่ในภาชนะหุงต้ม จะเป็นช่วงที่แบคทีเรียสามารถติดอยู่กับตะเกียบได้อยู่ ซึ่งวิธีป้องกันในเรื่องนี้แบบง่ายๆ คือการแยกตะเกียบออกมาเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยส่วนที่ใช้คีบเนื้อสด กับส่วนที่ใช้รับประทาน

โดยกรมควบคุมโรค ออกมาย้ำเตือนถึงความรุนแรงของโรคไข้หูดับ ว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันโรค คือ 1.กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค

โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง