The Stronger ฅนหัวใจแกร่ง EP.10 ประวัติ วะโฮรัมย์ แชมป์พาราลิมปิกเกมส์ 5 สมัย


ผมว่าทุกคนมีความสามารถ อยู่ที่เราจะกล้าแสดงออกรึเปล่า ถ้าคิดเหมือนผมสมัยก่อน คืออาจคิดว่าตัวเองไร้ค่าไร้ประโยชน์ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เพราะถ้าเรามีความตั้งใจ มีความพยายาม ไม่วันนี้ก็วันหน้าทุกคนต้องทำได้: ประวัติ วะโฮรัมย์

รายการ The Stronger ฅนหัวใจแกร่ง ครั้งนี้พาไปพบกับ คุณประวัติ วะโฮรัมย์ คือสุดยอดนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทยที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้มากที่สุดจากการแข่งขันระดับโลก คือ 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ซึ่งความพิการทางร่างกายจากโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก ทำให้เค้ามักถูกเพื่อนล้อเป็นประจำ และวันที่เป็นจุดเปลี่ยนก็เริ่มขึ้น เมื่อเขาได้เข้าโรงเรียนศรีสังวาลย์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และทุ่มเทฝึกซ้อมกีฬาวีลแชร์อย่างหนัก และได้กลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ทีมชาติไทยที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศถึง 5 สมัย

คุณประวัติ วะโฮรัมย์ เล่าว่า ด้วยโรคโปลิโอ จึงทำให้ตนเองพิการมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพ่อกับแม่ก็คอยให้กำลังใจ และพยายามพาไปรักษาหลายที่แต่ก็ไม่หาย ทั้งเมื่อไปโรงเรียนก็มักถูกเพื่อนล้อว่าไอ้เป๋อยู่เป็นประจำ จึงคิดมาตลอดว่าความพิการนี้ทำให้ตนเองแตกต่างจากคนปกติทั่วไป แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ในเมื่อมันเป็นมาแล้ว

ตอนเด็กรู้สึกท้อมาก เวลาไปเรียนหรือไปที่ไหน ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมได้แบบคนอื่น เช่น เพื่อนเขาเล่นกีฬา หรือไปเข้าค่ายลูกเสือ ก็ไม่สามารถร่วมกิจกรรมกับเขาได้ แต่เพราะเป็นคนสู้ อย่างเช่นเรื่องกีฬาที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็จะมีคนพูดตลอดว่า ฝันไปเปล่า แชมป์โลกเขาต้องเก่งอย่างนู้น อย่างนี้ แต่คนเรา มันต้องมีความฝัน จึงคิดและพูดกับตัวเองว่า สักวันเราจะต้องไปถึงฝันให้ได้ แล้วเราก็ทำได้

ช่วงแรกที่เข้ามาที่โรงเรียนคนพิการ ไม่ได้คิดว่าจะมาเล่นกีฬาเลย ตั้งใจว่ามารักษาขาให้หาย หรือใส่ขาพอเดินได้แล้วก็กลับไปช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน แต่พอเห็นรุ่นพี่เขาซ้อมกัน เลยทำให้คิดว่าความพิการนี้ มันไม่ได้เป็นอุปสรรค จึงเกิดกำลังใจแล้วเข้าสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ ต่อมาเมื่อมีภรรยาและลูก พวกเขาก็จะคอยให้กำลังใจ และช่วยให้มีแรงฮึดสู้มากขึ้นจนมาถึงทุกวันนี้

ครั้งแรกที่ได้เข้าแข่งพาราลิมปิกเกมส์คือที่ซิดนีย์ ครั้งนั้นติดเป็นคนสุดท้ายของทีม และสามารถคว้าเหรียญทองได้ถึง 2 เหรียญ การไปขณะนั้นไม่คิดเลยว่าจะได้เหรียญทอง คิดแค่ว่าได้เข้าร่วมแข่งก็ดีใจแล้ว แต่ตอนที่เข้าเส้นชัย รู้สึกภูมิใจมาก เพราะเป็นการคว้าเหรียญทองเป็นครั้งแรกในการแข่งพาราลิมปิกเกมมาให้ประเทศไทย

สำหรับการฝึกซ้อมจะแบ่งเป็นสองเวลา ก็คือช่วงเช้ากับช่วงเย็น คาบละ 3 ชั่วโมง โดยสนามซ้อมหลักจะอยู่ที่โคราช การซ้อมหนักครั้งนี้ เพราะปีหน้าจะมีชิงแชมป์โลกที่ลอนดอน และมีอาเซียนพาราเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ แต่แมทซ์ที่สำคัญสุด ของวงการกีฬาคนพิการ คือพาราลิมปิกเกมส์ ณ กรุงโตเกียว ซึ่งจะเป็นพาราลิมปิกเกมส์ครั้งสุดท้ายที่จะร่วมแข่งขัน เพราะเล่นมานานกว่า 25 ปีแล้ว และหลังจากปี 2020 หรือปีหน้า ก็จะหยุดอาชีพนี้ สำหรับเหรียญรางวัลต่างๆที่คว้ามาได้ มองว่ามาจากการใส่ใจฝึกซ้อม ความรับผิดชอบที่ต้องซ้อมให้ตามเป้าที่วางไว้

เรื่องสวัสดิการผู้พิการในปัจจุบัน มองว่าทางภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจคนพิการมากขึ้น บวกกับสังคมทุกวันนี้ หยิบยื่นโอกาสให้คนพิการได้แสดงออก ได้โชว์ฝีมือ ได้แสดงความสามารถ เช่น การเปิดให้เข้าไปทำงานในบริษัทต่างๆ ซึ่งตนเองมองว่าทุกคนมีความสามารถอยู่แล้ว แต่อยู่ที่เราจะกล้าแสดงออกรึเปล่า ถ้าคิดเหมือนตนสมัยก่อน คือการคิดว่าตัวเองไร้ค่าไร้ประโยชน์ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เพราะถ้าเรามีความตั้งใจ มีความพยายาม ไม่วันนี้ก็วันหน้าทุกคนต้องทำได้

สุดท้ายคุณประวัติฝากข้อคิดว่า ชีวิตคนเราเกิดมา แตกต่างกันไป ล้มลุกคลุกคลาน อย่างตัวผมก็ล้มลุกคลุกคลานกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเรา ว่าเราจะคิดและอยากตั้งใจทำอะไร อย่ามัวแต่นอนรอโอกาส ว่ามันจะลอยมาหา เพราะถ้ามีความพยาม สิ่งเหล่านั้นจะมาหาเรา และช่วยเราให้ประสบความสำเร็จได้เอง