“ประเทศญี่ปุ่น” ขึ้นชื่อเรื่องความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ รวมถึงงานออกแบบของใช้เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตที่ยากต่อการเลียนแบบ ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในหลากสไตล์หลายรูปแบบ เช่น สไตล์การแต่งตัว รถยนต์คันมินิ เครื่องประดับสไตล์มินิมอล และอื่นๆ เรียกได้ว่าหากใครมีโอกาสได้เห็นแล้วต้องร้องว้าว สแนปภาพ และอยากไปสัมผัสด้วยตัวเองอีกครั้งถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการการันตีว่าได้เห็นด้วยตัวเองแล้ว
แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางไปสัมผัสงานดีไซน์ด้วยตัวเองไกลถึงญี่ปุ่น เรามีข่าวดีมาบอก!! สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ร่วมมือกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น ประเทศไทย (Japan Foundation) นำนิทรรศการ “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น” (Japan Design Today 100) ที่สัญจรไปจัดแสดงทั่วโลก ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยจัดแสดงงานดีไซน์สไตล์ญี่ปุ่น กว่า 100 ผลงาน ที่สะท้อนวิถีชีวิต แนวคิดของนักออกแบบ รวมไปถึงความเข้าใจในวัสดุและธรรมชาติที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง โดยไฮไลท์งานดีไซน์ที่นำมาจัดแสดง อาทิ
งานออกแบบคลาสสิกระดับตำนานของญี่ปุ่น (Classic Japanese design)
ขวดบรรจุซอสถั่วเหลืองชิ้นแรก ที่ออกแบบให้เทซอสได้ทันทีโดยไม่ต้องเปิดฝา
ชื่อผลงาน: Kikkoman Soy Sauce Dispenser 150ml bottle, 1961
นักออกแบบ: Kenji Ekuan
ภาพขวดบรรจุซอสถั่วเหลืองชิ้นแรก ‘kikkoman’ (อ้างอิง instagram – kikkoman.jp)
ภาพขวดบรรจุซอสถั่วเหลืองชิ้นแรก ‘kikkoman’ (อ้างอิง instagram – kikkoman.jp)
อุปกรณ์เครื่องเขียน (Stationary)
เทปกาวจากกระดาษญี่ปุ่น คุณสมบัติ ทนทาน แต่บาง ลอกออกได้ง่าย ปัจจุบัน เอ็มที ถูกออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลายมาขึ้น เช่น วอลเปเปอร์ สำหรับงานตกแต่งภายในอีกด้วย
ชื่อผลงาน: mt-masking tape, 2008
นักออกแบบ: Koji Lyama
ภาพเทปกาวจากกระดาษญี่ปุ่น ‘MT’
เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (Tableware and Cookware)
อุปกรณ์บอกอุณหภูมิสำหรับปิดฝาถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตัวคนจะเปลี่ยนสีตามความร้อน-เย็นของภาชนะ
ชื่อผลงาน: Cupmen 1 Hold on, 2009
นักออกแบบ: Akira Mabuchi
ภาพอุปกรณ์บอกอุณหภูมิสำหรับปิดฝาถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘Cupmen’
เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (Apparel and Accessories)
เสื้อโค้ตเพื่อชีวิต นอกจากป้องกันความหนาวเย็นแล้ว โฮม 1 ยังมีกระเป๋าขนาดใหญ่สำหรับเก็บของใช้ยามฉุกเฉินและช่วยให้อยู่รอดในสภาวะขาดแคลน
ชื่อผลงาน: Final Home “HOME 1”, 1994
นักออกแบบ: Kosuke Tsumura
ภาพเสื้อโค้ตเพื่อชีวิต ‘finalhome’
ของใช้สำหรับเด็ก (Children)
หน้ากากป้องกันการติดเชื้อสำหรับทารกอายุตั้งแต่ 1.5 ปีขึ้นไป รูปทรงโดมขยายพื้นที่ภายในหน้ากากทำให้หายใจได้สะดวก
ชื่อผลงาน: First Face Mask for Babies, 2011
ภาพหน้ากากป้องกันการติดเชื้อสำหรับทารก ‘Baby mask’
อุปกรณ์กิจกรรมสันทนาการ (Hobbies)
ตำนานกล้องเล็ก เลนส์กว้าง GR เป็นกล้องดิจิทัลที่ถือว่ามีระบบชัตเตอร์ไวเหมาะสำหรับถ่ายภาพเหตุการณ์-อารมณ์ความรู้สึกประเภท Street Snap
ชื่อผลงาน: GR, 2013
นักออกแบบ: Tatsuo Okuda, Masahiro Kurita, Takashi Ishida
ภาพกล้องดิจิทัลขนาดเล็ก เลนส์กว้าง GR
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการ “ออกแบบแบบญี่ปุ่น” ยังมีงานดีไซน์ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Furniture and Housewares) ของใช้สำหรับสุขภาพ (Healthcare) ขนส่ง (Transportation) และ อุปกรณ์กู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัย (Disaster relief) โดยทั้งหมดเป็นงานดีไซน์ที่สามารถสะท้อนมิติต่างๆของประเทศญี่ปุ่นได้ป็นอย่างดี ทั้งในด้าน แนวคิดของนักออกแบบ รูปแบบวิถีชีวิต ความเข้าใจในธรรมชาติ และวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ผลิตสินค้า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ tcdc.or.th