8 เทคโนโลยีสำคัญ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม


เทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย

1. โซลูชั่น ERP สมัยใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ

ธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ จะมีโซลูชั่นที่ใช้ในการวางแผนทรัพยากรขององค์กรอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามธุรกิจขนาดใหญ่กว่ามักจะใช้ซอฟต์แวร์ที่ล้าสมัยที่ได้รับการปรับปรุงเป็นส่วนๆ (patch) และแอปพลิเคชันที่ไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่สตาร์ทอัพมักชอบใช้โซลูชั่นทางบัญชีแบบทั่วๆ ไป ที่ให้ความสำคัญกับระบบลูกหนี้-เจ้าหนี้ และระบบสินค้าคงคลังเท่านั้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โซลูชั่นด้านการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ที่ทันสมัยมีความก้าวหน้าสำคัญหลายประการด้วยเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่างๆ ขยายขีดความสามารถของ ERP ไปครอบคลุมถึงเครื่องมือในการวางแผน การคาดการณ์ และการวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีโซลูชั่นเฉพาะทางที่เจาะจงไปยังแต่ละอุตสาหกรรรม ซึ่งมีคุณสมบัติและคุณประโยชน์ต่างๆ ติดตั้งมาพร้อม ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องทำการปรับแต่งโค้ดให้ยุ่งยาก และช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการปรับปรุงระบบ โซลูชั่นเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและให้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ในโซลูชั่นนั้น

2. การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM)

ทุกคนทราบดีว่าความสัมพันธ์กับลูกค้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จโดยรวมของบริษัท ลูกค้าในยุคปัจจุบันมีความคาดหวังสูง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป (B2C) หรือทำธุรกิจระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ก็ตาม บริษัทและคู่แข่งขององค์กรนั้นๆ ล้วนต้องมองหาแนวทางที่จะใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าของตน และเชื่อมต่อกับผู้บริโภคด้วยแนวทางที่เหมาะสม โดยจะต้องเป็นผู้คุมเกมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับคำสั่งซื้อที่เข้ามา การคาดการณ์และวางแผนสินค้าที่จะนำเสนอในแต่ละฤดูกาลหรือช่วงเทศกาลต่างๆ หรือการวางแผนโปรโมชั่นให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า โซลูชั่นการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า จะช่วยให้ท่านบริหารจัดการและเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง

3. การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Capital Management: HCM)

ความแข็งแกร่งของบริษัทขึ้นอยู่กับบุคลากร บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ทันสมัยจำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้าน ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ไปจนถึงทีมงานฝ่ายจัดซื้อซึ่งจะต้องสรรหาวัตถุดิบที่สดใหม่และคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป การสรรหาพนักงาน การฝึกอบรม และการรักษาบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้านนั้น อาจเป็นความท้าทายที่น่าหวาดหวั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งบุคลากรที่มีความชำนาญถือเป็นสมบัติอันล้ำค่า โซลูชั่นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรหาและจัดการดูแลบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถไว้กับองค์กรได้อย่างยาวนาน

4. การบริหารจัดการสินทรัพย์องค์กร และ อินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT)

โซลูชั่นเพื่อจัดการวงจรชีวิตของเครื่องจักรในโรงงาน ผสานรวมเข้ากับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ IoT จะช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โซลูชั่นเหล่านี้จะช่วยให้โรงงานดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาจากการที่ระบบหยุดทำงานโดยกระทันหัน เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ในเครื่องจักรจะทำหน้าที่เฝ้าสังเกตสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการซ่อมบำรุง จากนั้นระบบจะแจ้งเตือนฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรในระยะยาว

5. การจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Lifecycle Management – PLM)

ผู้บริโภคในปัจจุบันคาดหวังจะเห็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บ่อยครั้งมากขึ้น และผู้บริโภคต้องการมีข้อเสนอและมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น รองรับความต้องการที่แปลกใหม่ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและการจัดเตรียมที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่าองค์กรธุรกิจจะต้องทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โซลูชั่น PLM ที่ทันสมัยจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับกระบวนการดังกล่าว และเพิ่มความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น

6. โซลูชั่นการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management)

เมื่อธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายในการจัดการสินค้าคงคลังของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องการจัดการห้องเย็น ห้องแช่แข็ง และแม้กระทั่งคลังสินค้านอกสถานที่ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบริหารจัดการและตอบสนองอย่างฉับไวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบบการจัดการคลังสินค้าที่ทันสมัยจะมีขีดความสามารถในการทำงานแบบโมบาย เพื่อช่วยในการจัดเก็บแบบสองขั้นตอน การใช้ระบบ cross-docking และ slotting และการจัดส่งสินค้าขาเข้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการจัดการและวางจำหน่ายสินค้า

7. การจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management)

บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ทันสมัยมีความต้องการใช้ประโยชน์จากระบบซัพพลายเชนที่ซับซ้อนและเครือข่ายซัพพลายเออร์จำนวนมาก และโดยมากแล้วมักจะครอบคลุมทั่วโลก ความสามารถในการตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งและสถานะของสินค้าที่จัดส่งได้อย่างทั่วถึงจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่ได้รับจะอยู่ในสภาพสดใหม่และมีการจัดส่งตรงเวลาเพื่อรองรับกระบวนการแปรรูปตามตารางเวลาที่กำหนด ระบบซัพพลายเชนที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจปรับเปลี่ยนได้แบบ ณ เวลาจริงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนสถานภาพการแข่งขันให้ได้เปรียบ

8. การใช้ระบบคลาวด์

การติดตั้งใช้งานระบบคลาวด์มักจะมาพร้อมกับการอัพเดตซอฟต์แวร์ ERP หรือการนำโซลูชั่นใหม่ๆ มาใช้งานเพิ่มเติม โซลูชั่นทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นสามารถทำงานบนระบบคลาวด์ได้ และแน่นอนว่าองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องใช้โซลูชั่นที่ยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวสูงสุด เพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว นั่นคือการใช้ระบบคลาวด์

อ้างอิง: อินฟอร์