“ออมสิน”เผยตัวเลขคนไทยใช้จ่ายน้อยช่วงเปิดเทอม


แบงก์ออมสินเผยคนไทยช่วงเปิดเทอมยอดใช้จ่ายคาดใกล้ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ลดลง 18% จากปีก่อน ชี้ห่วงค่าใช้จ่ายเรื่อง “ชุดนักเรียน” มากที่สุด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในระดับฐานรากของช่วงเปิดเทอมปี 2562 พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 18% โดยภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอม คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 34,970 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 7,030 บาท

ทั้งนี้ คาดว่าสาเหตุมาจากประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเลือกจะให้บุตรหลานใช้อุปกรณ์การเรียน หรือชุดนักเรียนเดิมที่มีอยู่ อีกทั้งบางส่วนเลือกจะรับการสนับสนุนหนังสือเรียนจากโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่เตรียมตัวเพื่อรับมือกับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาทิ การปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ราคาถูกที่สุด และหารายได้เสริม ส่วนเรื่องเป้าหมายทางการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นไปในการศึกษาสายสามัญเพื่อมุ่งหวังปริญญามากกว่าการศึกษาในสายอาชีพ

ผลสำรวจของธนาคารออมสิน ยังระบุอีกว่า ในปี 2562 ประชาชนฐานรากมีการใช้เงินกู้สำหรับการศึกษาของบุตรหลานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และยังเป็นการกู้เงินจากนอกระบบมากกว่าในระบบ ดังนั้นการที่รัฐบาลออกมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ในช่วงเปิดเทอม 500 บาทต่อบุตร 1 คน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้รับในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 จะพอแบ่งเบาภาระได้บ้าง

ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจแหล่งที่มาของรายได้เพื่อใช้จ่ายสำหรับช่วงเปิดเทอม พบว่าประชาชน 54% ระบุว่านำมาจากรายได้ อีก 24% เป็นเงินจากคนในครอบครัว ส่วนอีก 10% มาจากเงินออม ขณะที่เงินสวัสดิการจากรัฐถูกประชาชนนำมาใช้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน 5% และอีก 4% คือเงินจากการกู้ยืม ซึ่งใช้จ่ายของบุตรหลานสำหรับการศึกษาในส่วนของประถมศึกษาจะมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อสำรวจการใช้จ่ายด้านต่างๆ ในช่วงเปิดเทอม พบว่า กิจกรรมการใช้จ่าย 3 อันดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานรากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ คือ 1.ชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,575 บาท 2.ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,470 บาท และ 3. ค่าอุปกรณ์การเรียน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 895 บาท