คิดให้ดี มองให้ออก ก่อนตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์


สำหรับคนที่กำลังสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์ควรมองภาพรวมให้ครบในทุกด้าน เพราะทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงหรือแม้กระทั่งรูปแบบ ระบบ การดำเนินธุรกิจที่อยู่ภายใต้กฎกติกาหลายอย่าง แต่ทว่าแฟรนไชส์ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทธุรกิจที่เป็นรูปแบบสำเร็จรูปง่ายต่อการลงทุน โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่ง

1.ความน่าสนใจของธุรกิจแฟรนไชส์

จุดเด่นของธุรกิจแฟรนไชส์ คือ ธุรกิจเหล่านี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปแล้วระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาบริหาร (แฟรนไชส์ซี : Franchisee) สามารถต่อยอดทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยมีประเภทธุรกิจให้เลือกหลายหลายรูปแบบ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงเรียนกวดวิชา จำนวนเงินทุนตั้งต้นก็แตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงหลักล้านบาท

ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ธนาคารมักมีโครงการสินเชื่อสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะผู้สนใจจึงสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาเรื่องเงินลงทุนธุรกิจจากธนาคารได้

2.แฟรนไชส์ที่ซื้อมาไม่ได้ดีอย่างที่คิด

การเลือกแฟรนไชส์ สิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามคือ เจ้าของแฟรนไชส์ ดูความคิดวิสัยทัศน์ให้ดี เลือกคนที่พร้อมจะพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ใช่หยุดแค่ที่เดิม ที่คิดว่าดีอยู่แล้ว เพราะไม่มีธุรกิจไหนสมบูรณ์แบบต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หากเจ้าของแฟรนไชส์ไม่พร้อมพัฒนา คุณเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของข้อตกลงในสัญญาที่ได้ทำขึ้น

3.ตัดสินใจเองไม่ได้

ข้อด้อยอีกข้อในการซื้อแฟรนไชส์ คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ตามความต้องการของคุณเอง ต้องทำตามข้อตกลงตามที่ได้ทำสัญญากับเจ้าของแฟรนไชส์ไว้เท่านั้น ทำให้คุณขาดความคล่องตัวในการทำงานไปบ้าง

4.ความเสี่ยงยังมีให้เห็น

แม้ว่าความเสี่ยง หรือปัญหาต่างๆ จะน้อยหว่าธุรกิจส่วนตัว แต่หากผู้แฟรนไชส์ไม่ศึกษาข้อมูลธุรกิจนั้นให้ดีเสียก่อน ก็อาจเกิดความผิดพลาด เช่น ลงทุนไปจำนวนมาก แต่ได้มาแค่ชื่อแบรนด์ ความเสี่ยงจะที่ล้มเหลวก็มีเพิ่มขึ้น

5.ลงทุนมากเกินไป

บางครั้งคุณลงทุนมากมายมหาศาลกับธุรกิจแฟรนไชส์ แต่อย่าลืมว่า เราไม่ได้สร้างธุรกิจขึ้นมาเอง เราถูกกำหนดให้ขายสินค้าตามที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดมาให้ สินค้าที่คุณขายอาจไม่สร้างกำไรมากมายอย่างที่คุณคิด ดังนั้นศึกษาข้อมูลธุรกิจให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ

6.สิ่งที่ต้องระวัง

ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ควรจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ และศึกษาให้รอบด้านก่อน เช่น เป็นธุรกิจประเภทที่ชอบหรือมีความสนใจหรือไม่ ยกตัวอย่าง การเลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟ เพราะปัจจุบันคนนิยมดื่มกาแฟกันมาก แต่ตัวเจ้าของธุรกิจเองไม่ดื่มกาแฟ กรณีแบบนี้ก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้

อ้างอิง: https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/24107