ศักยภาพการแข่งขันไทย ขยับจากอันดับ 30 อยู่ที่ 25 สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี


กรุงเทพฯ 29 พ.ค.- World Competitiveness Center ของ IMD จัดอันดับศักยภาพในการแข่งขันประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับ 30 ดีขึ้นเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับ 25 ดีขึ้น 3 ด้านจากจัด 4 ด้านคือ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ประสิทธิภาพของธุรกิจลดลง 2 อันดับ จากการจัดอันดับ 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA เผล ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 โดยจัดอันดับทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่า เขตเศรษฐกิจที่อันดับสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งลดลงไปเป็นที่ 3 รองลงมาคือ ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ

ส่วนเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่จัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ อันดับดีขึ้นเกือบทั้งหมด สิงคโปร์อันดับ 1 มาเลเซียอันดับคงที่ 22 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ด้านประเทศไทยอันดับสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับ 25 ซึ่งการจัดอันดับแบ่งเป็น 4 ด้าน ประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ประสิทธิภาพของธุรกิจลดลง 2 อันดับ จากการจัดอันดับ 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่วนอินโดนีเซีย อันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 43 เป็น 32 และฟิลิปปินส์ จากอันดับที่ 50 เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 46

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐของไทยดีขึ้น 2 อันดับ โดยด้านเศรษฐกิจการลงทุนจากต่างประเทศมีอันดับที่ดีขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้น ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 4 อันดับ นับว่า เป็นผลจากการที่รัฐบาลได้มีแนวทางที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัยคล่องตัว และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

นอกจากนี้ สศช.ยังดำเนินโครงการที่เรียกว่า “การสร้างอนาคตประเทศไทย” หรือ “ Futurising Thailand” ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท 101 เปอร์เซ็นต์ โครงการนี้ ทำหน้าที่ในการสื่อสารสาธารณะ ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะหลักนโยบายที่จะยกระดับขีดความสามารถทั้งในเรื่องทุนมนุษย์กฎระเบียบและการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่จะพัฒนาขีดความสามารถให้ความสามารถให้มีความทั่วถึงในระดับพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาลได้เร่งรัดให้หน่วยดำเนินแผนงาน โครงการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ คณะกรรมการ ศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และกรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยที่ดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 25 ในปีนี้ จากปีที่ผ่านมาอยู่อันดับที่ 30 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผลการจัดอันดับดีขึ้น ยังมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวก็มีอันดับสูงขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะผลจากภาคเอกชนที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)