ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับสำนักวิจัยโพล UCSI มหาวิทยาลัย UCSI ประเทศมาเลเซีย www.ucsipoll.org เปิดโครงการสำรวจสภาวะการเงินคนไทย คนมาเลย์ (Consumer Sentiment Index, CSI) กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้งสองประเทศ จำนวนตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,164 คนและตัวอย่างคนมาเลเซียจำนวน 531 คน ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 10 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พบว่า
เมื่อถามถึงสภาวะการเงินเมื่อนึกถึงช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จำแนกออกระหว่างกลุ่มตัวอย่างคนไทย กับ คนมาเลเซีย พบว่า คนไทยเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้นที่บอกว่า สภาวะการเงินของตัวเองดีขึ้น ในขณะที่คนมาเลเซียร้อยละ 31.6 ระบุว่าสภาวะการเงินของตัวเองดีขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.4 ระบุสภาวะการเงินของตัวเองแย่ลง แต่คนมาเลเซียเพียงร้อยละ 16.2 เท่านั้นที่ระบุว่าสภาวะการเงินของตัวเองแย่ลง ที่เหลือของประชาชนทั้งสองประเทศคือ คนไทยร้อยละ 44.0 และคนมาเลเซียร้อยละ 52.2 ระบุสภาวะการเงินเหมือนเดิม
ที่น่าพิจารณาคือ สภาวะการเงินในอนาคตในอีก 12 เดือนข้างหน้า จำแนกเปรียบเทียบระหว่างคนไทย กับคนมาเลเซีย พบว่า คนไทยร้อยละ 21.9 กับคนมาเลเซียร้อยละ 34.6 ระบุสภาวะการเงินอนาคตจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามคนไทยเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27.5 แต่คนมาเลเซียเพียงร้อยละ 18.3 ระบุสภาวะการเงินในอนาคตจะแย่ลง
นอกจากนี้ ที่เหลือของประชาชนทั้งสองประเทศคือคนไทยร้อยละ 50.6 และคนมาเลเซียร้อยละ 47.1 ระบุสภาวะการเงินในอนาคตจะเหมือนเดิม
ที่น่าสนใจคือ การคาดการณ์ต่อช่วงเวลาที่ดีต่อการทำธุรกิจและการลงทุนของประชาชนทั้งสองประเทศ พบว่า คนไทยร้อยละ 21.7 กับคนมาเลเซียร้อยละ 37.6 ระบุในอีก 12 เดือนข้างหน้าเป็นช่วงเวลาที่ดีต่อการทำธุรกิจและการลงทุน ในขณะที่ร้อยละ 34.7 ของคนไทย และร้อยละ 35.5 ของคนมาเลเซีย ระบุว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีต่อการทำธุรกิจและการลงทุน ที่เหลือของประชาชนที่ถูกศึกษาทั้งสองประเทศคือ คนไทยร้อยละ 43.6 และคนมาเลเซียร้อยละ 26.9 ระบุในอีก 12 เดือนข้างหน้ายังเป็นช่วงเวลาที่เหมือนเดิมต่อการทำธุรกิจและการลงทุน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการจับมือกันระหว่างสถาบันสำรวจความคิดเห็นของประชาชนสองประเทศคือ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ประเทศไทย และสำนักวิจัย UCSI มหาวิทยาลัย UCSI ประเทศมาเลเซียโดยมีเป้าหมายเพื่อหาข้อมูลสู่ประโยชน์สุขร่วมกัน (the Common Good) ของประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิด ได้เข้าใจสภาวะการเงินของประชาชนและจะได้สู่การป้องกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งสองประเทศ
“ครั้งนี้ที่พบว่า คนไทยมีสัดส่วนคนที่เห็นว่าสภาวะการเงินของตนเองดีขึ้น น้อยกว่า คนมาเลเซียประมาณห้าเท่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งอาจจะมาจากสถานการณ์การเมืองที่อ่อนแอของประเทศไทยแต่ถ้ารัฐบาลใหม่ออกมาดูดีเป็นที่ยอมรับน่าจะส่งผลทำให้ความรู้สึกเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยต่อสภาวะการเงินน่าจะดีขึ้นได้” ผศ.ดร.นพดล กล่าว