อาการปวดกล้ามเนื้อ ทำงานหนัก เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม


เพราะพฤติกรรมในการทำงาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานส่งผลต่อสภาพร่างกาย ซึ่งนั่นอาจทำให้เราละเลยสัญญาณเตือนของอาการออฟฟิศซินโดรม จากอิริยาบถในเวลาทำงาน การนั่งหลังค่อม นั่งทำงานหน้าจอคอมนานๆ แม้กระทั่งความเครียด แต่ปัญหาเหล่านี้ เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วัยทำงานมีความเสี่ยงที่จะเกิด โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ได้ ซึ่งอาการที่เป็นสัญญาณเตือนและพบบ่อยคือ

1) ปวดหลังเรื้อรัง จากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน ศักยภาพในการทำงานไม่เต็มร้อย

2) ปวดศีรษะเรื้อรัง (tension headache) ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิดเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

3) มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็น นิ้วมือพบมากขึ้น เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืด ยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวด ปลายประสาท นิ้วล็อค หรือข้อมือล็อคได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้น หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้

ทั้งนี้ วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมในขณะทำงาน คือ

1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย

2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้ แบบไม่จำกัดพื้นที่

3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กระพริบตาบ่อยๆ พักสายตา จากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง

4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์

5) รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่

6) ควรเปิดหน้าต่างสำนักงาน เพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้างอย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน

7) ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี