พบผู้ใช้งานถูกโจมตีจากมัลแวร์ที่มากับวิดีโอเกมส์กว่า 930,000 ราย


อาชญากรไซเบอร์ได้ใช้ประโยชน์จากความนิยมในการเล่นวิดีโอเกมส์ โดยการกระจายมัลแวร์ผ่านทางวิดีโอเกมส์ของปลอมที่กำลังได้รับความนิยม มีผู้ใช้งานที่โดนโจมตีแล้วกว่า 930,000 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากเดือนมิถุนายน 2561 ถึง มิถุนายน 2562 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของการโจมตีนั้นมาจากเกมส์เพียง 3 เกมส์เท่านั้น

วิดีโอเกมส์นั้นมีมานานแล้ว แต่พลังของอินเทอร์เน็ตทำให้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีประชากรของโลก 1 ใน 10 เล่นเกมส์ออนไลน์ และเช่นเดียวกันกับความบันเทิงดิจิทัลรูปแบบอื่น วิดีโอเกมส์ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทาง Torrent ที่ผิดกฎหมาย และพวกเขาก็กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ การนำแบรนด์วิดีโอเกมส์นั้นๆ ไปปลอมแปลงและแพร่กระจายมัลแวร์ ซึ่งวิดีโอเกมส์ที่ได้รับความนิยมสูงจะถูกนำไปปล่อยบนแพลตฟอร์มการเผยแพร่ ซึ่งทำให้หลายคนแยกไม่ออกระหว่างไฟล์จริงและไฟล์ปลอมที่มีมัลแวร์

Kaspersky ได้ตรวจสอบไฟล์เกมส์ที่ตรวจพบในช่วงปี 2018 และ 2019 อย่างละเอียด พบว่าเกมส์ที่ชื่อว่า ‘Minecraft’ กระจายมัลแวร์เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีมัลแวร์ที่แนบมากับเกมส์ปลอมประมาณ 30% และมีผู้ใช้งานที่ถูกโจมตีถึง 310,000 คน อันดับสองเป็นเกมส์ ‘GTA 5’ ซึ่งมีผู้ใช้ที่ถูกโจมตีถึง 112,000 คน รองลงมาเป็นเกมส์ ‘Sims 4’ เป็นเกมส์อันดับที่ 3 มีผู้ใช้ที่ถูกโจมตีจำนวน 105,000 คน

นักวิจัยยังเปิดเผยอีกว่า พวกอาชญากรไซเบอร์ยังโจมตีในรูปแบบที่ให้ดาวน์โหลดไฟล์ปลอมที่อ้างว่าเป็นเกมส์ใหม่ยังไม่เปิดตัว โดยพบว่ามีเกมส์ 10 เกมส์ที่ปลอมว่าเป็นเกมส์ใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวล่วงหน้า ซึ่ง 80% ตรวจพบว่าเป็นเกมส์ FIFA 20, Borderlands 3 และ Elder Scrolls 6

เป็นเวลาหลายเดือนที่พวกอาชญากรไซเบอร์ใช้ประโยชน์จากความบันเทิงในการโจมตีผู้ใช้ โดยใช้รายการทีวีที่กำลังได้รับความนิยม ภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์และวิดีโอเกมส์ที่ได้รับความนิยมเป็นเครื่องมือ โดยผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยระมัดระวังเมื่อพวกเขาต้องการที่จะแค่พักผ่อนและหาความบันเทิง ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะมีมัลแวร์มากับสิ่งที่เขาใช้มาหลายปีหรือมีการกระจายของภัยคุกคามได้ ดังนั้นเราขอให้ผู้ใช้ควรระมัดระวัง ควรหลีกเลี่ยงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่น่าเชื่อถือหรือน่าสงสัย ที่สำคัญต้องติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยให้กับทุกอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมส์

ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของวิดีโอเกมส์ปลอม

– ใช้บริการที่ถูกกฎหมายเท่านั้น

– ให้ความสนใจมากขึ้นและให้แน่ใจว่าเป็นเว็บของจริง ไม่เข้าไปหรือดาวน์โหลดวิดีโอเกมส์จากเว็บไซต์ จนกว่าคุณแน่ใจว่าเป็นเว็บของจริงและขึ้นต้นด้วย ‘https’ ซึ่งต้องดูให้แน่นอนว่ารูปแบบชื่อเว็บไซต์ URL สะกดอย่างถูกต้อง หรือสะกดตามชื่อบริษัทหรือไม่ ก่อนที่จะทำการดาวน์โหลด

– อย่าคลิกลิงก์ที่น่าสงสัย ตัวอย่างเช่น ลิงก์ที่บอกว่าสามารถรับชมหรือเล่นเกมส์ได้ก่อนใคร

– ใช้โซลูชั่นรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ

อ้างอิง: Kaspersky