จับเทรนด์แอปฯ สั่งสะดวก “รถยิ่งติด ธุรกิจยิ่งโต”


จับตาความท้าทายของแอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ ท่ามกลางคู่แข่งมหาศาล อะไรกันคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ…??

ธุรกิจการจัดส่งอาหาร หรือ ฟู้ด เดลิเวอรี่ (Food Delivery) เติบโตต่อเนื่องประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมความสะดวกสบาย และยิ่งสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างยิ่ง การสั่งอาหารมาส่งที่บ้านจึงยิ่งตอบโจทย์และตรงใจจนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ประมาณการณ์ว่า ธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ในประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าประมาณ 33,000 – 35,000 ล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 10% ที่สำคัญมีจำนวนผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น ทั้ง Line Man, Food Panda, Grab Food และ Get ที่ท้าชิงเข้ามาขอพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทในประเทศไทย

หากดูที่กลุ่มเป้าหมาย พบว่า กลุ่มผู้ใช้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ มีตั้งแต่ Gen x ไปจนถึงกลุ่ม Millennials และส่วนมากเป็นผู้หญิง ซึ่งมีแนวโน้มในการจับจ่ายในเรื่องของอาหารมากกว่าผู้ชาย จากรายงานของ McKinsey & Company เปิดเผยว่า จากตัวเลขการสั่งอาหารทั้งหมด มีจำนวนถึง 84% เป็นการสั่งอาหารไปส่งที่บ้าน ขณะที่อีก 16% ส่งไปที่ทำงาน ด้านกลุ่มลูกค้าก็มีหลากหลายทั้งคนที่มีครอบครัวแล้วและคนโสด ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าของธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่มีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

 

 

จากฐานข้อมูลของ LINE MAN พบว่า ภาพรวมของออร์เดอร์เดลิเวอรี่ในปี พ.ศ. 2561 โตขึ้น 3 เท่า มีร้านอาหารและสตรีทฟู้ดจากทั่วกรุงเทพฯ เข้าร่วมกว่า 40,000 ร้าน ซึ่งเข้ามาช่วยตอบโจทย์พฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ รวมถึงเป็นประโยชน์แก่เจ้าของร้านอาหารที่ประสบปัญหาในเรื่องของสถานที่และทุนทรัพย์ในการเปิดร้านอาหาร ช่องทางเดลิเวอรี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จของร้าน KINZA GYOZA ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่า

ที่ผ่านมา มีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสั่งอาหาร (Food Delivery Application) เกิดขึ้นหลายราย ซึ่งเป็นพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่ของธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะบริการจัดส่งอาหาร หรือ ฟู้ด ดิลิเวอรี่ ได้เติบโตสูงมาก และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านค้าริมทางให้เข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานและทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมฉบับล่าสุดของ CleverTap เปิดเผยว่าผู้ใช้ถึง 86% หยุดใช้แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ภายในสองสัปดาห์แรก ซึ่ง CleverTap เป็นแพลตฟอร์มบริหารวงจรชีวิตลูกค้าที่เป็นบริษัทกว่า 8,000 แห่งทั่วโลก ได้ทำการวิเคราะห์ข้อความกว่า 3 พันล้านข้อความผ่านแอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ทั่วโลก พบว่า นักการตลาดต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการชิงส่วนแบ่งตลาดมูลค่า 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากผลสำรวจ พบว่า ปัจจุบัน 6 ใน 10 ของการสั่งอาหารผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นการสั่งทางแอปฯ มือถือ แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการดึงดูดและรักษาฐานผู้ใช้งานใหม่ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

– การลงทะเบียนใช้งาน: มีผู้ใช้งานเพียง 25% ที่ลงทะเบียนใช้งานเสร็จสมบูรณ์หลังเปิดใช้แอปฯ ครั้งแรก
– การรักษาฐานผู้ใช้งาน: มีผู้ใช้งานใหม่เพียง 22% ที่ยังใช้งานอยู่หลังผ่านสัปดาห์แรกไปแล้ว
– การเลิกใช้งาน: ผู้ใช้งานใหม่มากถึง 86% หยุดใช้งานแอปฯ ภายใน 2 สัปดาห์หลังใช้งานครั้งแรก
– การถอนการติดตั้ง: ผู้ใช้งานใหม่ 54% ถอนการติดตั้งแอปฯ ภายใน 1 เดือน

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า แม้ตลาดการสั่งอาหารเดลิเวอรี่กำลังเฟื่องฟู เพราะสะดวกสบายสำหรับชีวิตที่วุ่นวายในทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่มีจำนวนผู้เข้าใช้งานต่ำมาก การลดอัตราการเลิกใช้งานและการรักษาฐานผู้ใช้งานจึงเป็นความท้าทายอยู่ตลอดเวลา

กุญแจสำคัญในการดึงดูดลูกค้าคือการนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างในทุกๆ ช่วงของวงจรชีวิตลูกค้า การนำเสนอสิ่งที่มีค่าพอให้ผู้ใช้ยอมลงทะเบียนใช้งานเป็นเพียงความท้าทายแรก คุณต้องให้สิ่งตอบแทนเพื่อจูงใจให้ลูกค้าใช้แอปฯ และทำธุรกรรมซ้ำ “ณ ช่วงเวลานั้นๆ”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันด้วยการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจร้านอาหาร คือคุณภาพ รสชาติของอาหาร รวมทั้งการบริการ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่องทางแบบเดิม หรือ ช่องทางแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชัน หัวใจสำคัญทั้ง 3 ประการเหล่านี้นี่เอง ที่จะทำให้คุณ “ประสบความสำเร็จ”

 

Source : Bangkok Bank SME