ซีไอเอ็มบีไทย ประกาศกำไรสุทธิงวด 6 เดือนอยู่ที่ 429.9 ล้านบาท


นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 429.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 69.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.4 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 1.2 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 31.0 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 16.9

ผลประกอบการงวด 6 เดือน ปี 2562 ของธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

• กำไรสุทธิ 429.9 ล้านบาท (+19.4% YoY หรือ 69.8 ล้านบาท)

• รายได้จากการดำเนินงาน 6,875.8 ล้านบาท (+1.2% YoY) จากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน

•สำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง 31.0%

•เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 4.2% YTD

• Fast Forward เป็นแรงผลักดันสำคัญมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2561

รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวดหกเดือนปี 2562 มีจำนวน 6,875.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 80.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 3.8 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 40.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 รายได้อื่นลดลงจำนวน 77.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.5 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของขาดทุนสุทธิจากหนี้สินทางการเงินที่กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรม

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2562 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน 653.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 16.9 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเนื่องจากกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ Fast Forward และการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้น

การขายเพิ่มขึ้นเป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 65.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2561 อยู่ที่ ร้อยละ 57.0

อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบ