มิวนิกคว้าแชมป์ไฮเปอร์ลูป 4 สมัยซ้อน


วันหนึ่ง ไฮเปอร์ลูปอาจทำความเร็วได้ถึง 1,200 กม./ชม. ซึ่งเร็วกว่าความเร็วสูงสุดที่เคยวัดได้ในการแข่งรถฟอร์มูล่าวันถึงสามเท่า

เหล่านักประดิษฐ์ไฮเปอร์ลูปเชื่อว่าวันหนึ่ง เราจะสามารถเดินทางด้วยความเร็วเสียงได้ และเมื่อวันนั้นมาถึง เราจะเดินทางในกระสวยผ่านท่อสุญญากาศที่มีความเร็วสูงถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบัน วิศวกรทั่วโลกกำลังลงมือพัฒนาเทคโนโลยีนี้

เป็นอีกครั้งที่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิก (Technical University of Munich หรือ TUM) ชนะการแข่งขัน SpaceX Hyperloop Pod Competition ซึ่งเป็นการประลองความเร็วกระสวยต้นแบบที่จัดขึ้นใกล้กับเมืองลอสแอนเจลิส โดยกระสวยของทีม TUM Hyperloop ซึ่งติดตั้งชิปของ Infineon กว่า 420 ตัว สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 463.5 กม./ชม. เทียบได้กับการย่นระยะเวลาเดินทางจากมิวนิกไปยังฮัมบูร์กประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที และสถิติดังกล่าวยังทิ้งห่างอันดับสองกว่า 200 กม./ชม.

 

Hans Adlkofer รองประธานฝ่ายระบบยานยนต์ของอินฟิเนียน กล่าวว่า “ชัยชนะสี่ครั้งติดต่อกันในการแข่งขัน Hyperloop Competition เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของเหล่านักศึกษา ทั้งยังยืนยันด้วยว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ จะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของการขนส่ง เราตื่นเต้นกับทีม TUM Hyperloop และขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จอันน่าประทับใจ” ทั้งนี้ อินฟิเนียนได้ให้การสนับสนุนทีม TUM ในฐานะสปอนเซอร์และผู้จัดหาชิ้นส่วนประกอบ นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษาจะได้นำกระสวยอิเล็กทรอนิกส์ไปพัฒนาต่อให้เสร็จสมบูรณ์ที่สำนักงานของอินฟิเนียนในเอลเซกันโด ใกล้กับลอสแอนเจลิส

คอนเซปต์ของไฮเปอร์ลูปมาจากอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX ซึ่งนำเสนอแนวคิดนี้ในปี 2558 เพื่อให้เป็นทางเลือกการเดินทางที่เร็วกว่าและราคาถูกกว่าวิธีการขนส่งแบบเดิม ๆ นอกจากนี้ ไฮเปอร์ลูปจะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้อย่างมหาศาล เนื่องจากมีแรงต้านอากาศน้อยมากในท่อสุญญากาศ และกระสวยเคลื่อนที่โดยแทบไม่มีแรงเสียดทาน เนื่องจากเทคโนโลยีการลอยตัวด้วยแม่เหล็ก